มาตรฐาน

มาตรฐานเป็นตัวชี้วัดแบบหนึ่งที่ช่วยให้เรารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ยอมรับได้ และอะไรคือสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไข มาตรฐานยังถือเป็นมาตรวัดที่ช่วยให้คนเราสามารถพัฒนาตัวเองได้ดียิ่งขึ้น​จากการสร้างมาตรฐานส่วนบุคคล เราจะรู้ตัวทันทีว่างานที่เราสร้างขึ้นนั้นเป็นงานที่ “ผ่าน” สิ่งที่เรารับได้ หรือ “ผ่าน” พร้อมออกไปสู่สาธารณะ

แต่มาตรฐานก็ควรเป็นมาตรฐานที่ชัดเจนไม่เอนเอียงเหมือนไม้หักปักเลน ถ้าทำงานได้ไม่ตามมาตรฐานก็แค่ยอมรับแล้วเร่งพัฒนาฝีมือให้ดียิ่งขึ้น วันใดวันนึงข้างหน้าเราก็จะเติบโตและผ่านมาตรฐานที่ตั้งเอาไว้นั้นได้ กลับกันถ้าเราลดมาตรฐานลงมาเพื่อให้สามารถบรรลุสิ่งนั้นได้ง่ายขึ้น อันนี้สิที่ไม่น่าจะเรียกว่ามาตรฐาน

ถ้านักเรียนทั้งห้องมี 50 คน และคนที่สอบได้เกรด A มีแค่ 2 คน ในอนาคตอาจารย์ควรลดมาตรฐานของข้อสอบลงเพื่อให้นักเรียนสอบผ่านได้เกรด A มากขึ้น เพื่อที่จะได้ดูว่าตัวเองสอนดีและมีนักเรียนเข้าใจเยอะขึ้นหรือเปล่า?

เห้ยไม่ดิ.. มาตรฐานก็ควรเป็นมาตรฐาน

ถ้าเราลดมาตรฐานหรือไม่เคารพสิ่งที่เป็นหลักเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้ แล้ววันนึงเราจะรู้ได้อย่างไร เราจะมั่นใจได้ยังไงว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันผิดหรือถูก วันนึงที่เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม เราจะรู้ได้ยังไงว่าเราจะไม่ทำสิ่งที่ขัดกับเจตนาที่เราตั้งมั่นเอาไว้

มาตรฐาน กับ ความถูกต้อง

“สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น สิ่งที่ผิดก็คือผิด แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น​”
– ศ.สังเวียน อินทรชัย

ทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องความถูกต้อง ผมมักจะนึกครั้งแรกที่ผมขึ้นไปเห็นป้ายคำนี้หน้าห้องประชุมบนตึกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “สิ่งที่ถูกต้องคืออะไร” มันคือสิ่งที่เราในวันที่มีสติ และวันที่เราขาดสติควรนึกถึงเป็นอันดับแรกโดยสัญชาตญาณหรือเปล่า ถ้ามันใช่ เราก็คงไม่ต้องกังวลมากถึงวันข้างหน้าที่เราอ่อนแอ เราเหนื่อยล้า หรือตอนที่เราหลงทางจะทำผิดและแบกเรื่องนั้นติดตัวมา

มาตรฐานก็เหมือนความถูกต้อง เรารู้อยู่แล้วว่าอะไรควรหรือไม่ควร เราโตพอที่จะวิเคราะห์สถานการณ์กันได้แล้ว แต่ก็ติดอยู่ที่ว่าเราจะยอมรับ หรือปฏิบัติตามมาตรฐานหรือความถูกต้องนั้นหรือเปล่านั่นแหละ มันอาจมีคนเกลียดหรือไม่พอใจที่เราพูดความจริง มันอาจทำให้คนอื่นโกรธหรือไม่ชอบที่เรายึดถือทำสิ่งที่ถูกต้อง ก็ไม่เป็นไร สิ่งที่ถูกต้องคือสิ่งที่ถูกต้องยังวันยังค่ำ ไม่ช้าก็เร็วผู้คนก็ต้องรู้ความจริง

มาตรฐาน กับ ความคาดหวัง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรฐานนั้นมาพร้อมความคาดหวัง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เรามีตัวเปรียบเทียบชัดเจน หรืออยู่ในบริบทใกล้เคียงกับเรา ไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุ ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือสภาพสถานะทางสังคม ผู้คนมักจะมองไปรอบตัวก่อนเสมอแล้วตั้งคำถามในสิ่งที่แตกต่าง

เราต้องเดินทางเหมือนกันแล้วทำไมไม่ตรวจ ATK? เพราะเราคาดหวังให้คนที่อยู่ในบริบทเดียวกันทำตามมาตรฐานและความรับผิดชอบที่สังคมสร้างขึ้น

เราอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน แล้วทำไมไม่ทำงานให้สมกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย? เพราะเราคาดหวังให้ผลลัพธ์ของทีมหรือแผนกมีมาตรฐานที่ดีและเกิดผลลัพธ์กลับมาที่ดียิ่งขึ้น

เรามีรายได้ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน แล้วทำไมถึงหลีกเลี่ยงไม่จ่ายภาษี? เพราะเราคาดหวังให้คนอื่นปฏิบัติตามมาตรฐานและกฏเกณฑ์ของภาครัฐเหมือนๆกัน (ถึงแม้ไม่อยากจ่าย)

ถ้าสมการความสุข เกิดขึ้นจาก ความคาดหวัง – ความเป็นจริง แล้วเราอยากมีความสุขกับมาตรฐานที่เราตั้งขึ้น ก็คงจะเป็นเรื่องง่ายถ้าไม่ต้องนำเรื่องของคนอื่นมาคิด โดยสรุปแล้วมาตรฐานควรจะสูงขึ้น ไม่ใช่แย่ลง อะไรที่เราปรับเองได้ นำไปใช้เองได้ ก็เก็บมาพัฒนาตัวเองแล้วดันมาตรฐานของเราขึ้นไปจะดีกว่า ดีกว่านำมาตรฐานไปใช้กับคนอื่นที่ไม่ได้เห็นคุณค่าของการสร้างมาตรฐานหรือการนำมันมาปรับใช้ แล้วจะเป็นเราเองที่ผิดหวังจากความคาดหวังที่เราสร้างขึ้น

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ