เมื่อก่อนสัก 5 ปีที่แล้วเคยโพสต์บน Facebook ว่าอยากจะมีเพื่อนจับกลุ่มนั่งทำงานเสาร์อาทิตย์ อาจจะเป็นโปรเจคอะไรเล่นๆทำสนุกๆให้คลายเครียดและได้คิดอะไรอื่นนอกเหนือจากงานที่ทำอยู่ประจำในทุกๆวัน พอเห็นแล้วก็ย้อนกลับมานั่งคิดจริงจังดูว่าแท้จริงแล้วเราไม่ได้อยากทำงานเสาร์-อาทิตย์ หรือทำโปรเจคอื่นอะไรขนาดนั้นหรอก
เราแค่อยากได้เพื่อนที่นั่งทำงาน ช่วยเราคิดช่วยเราทำ สนุกไปกับงานที่ได้ทำ มีไอเดียอะไรใหม่ก็เขียนโพสอิทแปะฝาผนังตรงนั้น เห็นอะไรใหม่ก็ชวนคุยพยายามหาจุดแข็งจุดอ่อนของมันอย่างตรงไปตรงมา เป็นการเถียงกันแบบจริงจังที่สนุกและไม่เคยถือโทษโกรธกันเพราะเรามีเจตนาที่ดีและอยากให้ผลลัพธ์มันออกมาดีด้วยพื้นฐานของความเป็นจริง
ผมไม่เคยมีภาพแบบนั้นเลยไม่ว่าจะกี่ปีผ่านมาจากโพสต์นั้น ภาพที่ใกล้เคียงที่สุดคือภาพที่ทำงานทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตกเย็นไปเรียนโทแล้วอยู่คุยงานหน้าตึกถึงดึกดื่น เสาร์นัดกันมาทำงานกลุ่ม บางอาทิตย์มีสัมมนาสลับกับทำงานกลุ่มวนอยู่แบบนี้ประมาณเกือบๆเดือน เป็นช่วงที่ท้อมากๆ แต่ก็เป็นช่วงที่รู้สึกสนุก อยากมีประสบการณ์แบบนี้ไปอีกเรื่อยๆ
ถึงแม้มันจะเหนื่อย แต่มันก็ทำให้เรารู้สึกดี ว่ากำลังใช้ชีวิตเพื่ออะไร
มันทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย การได้เรียนรู้สิ่งที่เราไม่เคยรู้ในทุกๆวันบางทีมันก็เกินความสามารถในการทำความเข้าใจเหมือนกัน แต่มันทำให้เราอยากเอาชนะ อยากเข้าใจ อยากเป็นคนใหม่ อยากเป็นคนที่รอบคอบ และรู้ในเรื่องที่ไม่เคยเข้าใจได้ดีขึ้น พอมาย้อนคิดดูดีๆ ก็พบว่าสิ่งที่สำคัญและทำให้เราผ่านจุดนั้นมาได้คือสังคมและผู้คนรอบตัวทั้งนั้น
มันมีหลายต่อหลายครั้งที่เราเจอปัญหาแล้วท้อ อยากพักอยากหยุด แต่พออยู่ในกลุ่มคนรอบตัวที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกัน อยู่ๆมันก็ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก มันเหมือนกับเราได้ยินใครอีกคนพูดกับตัวเองว่า “นี่ไง มึงเห็นมั้ย มึงไม่ได้เป็นคนเดียวที่รู้สึกแบบนี้สักหน่อย มีคนอื่นที่รู้สึกแบบเดียวกับเรา ตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกับเรา บางคนมีภาระผูกพันธ์ที่มากกว่า หนักกว่า เขายังไม่ยอมเลย” พอเห็นแล้วมันก็ใจชื้น อยากจะเข้าไปคบค้าสมาคมให้กำลังใจและผ่านมันไปด้วยกัน
มันเป็นความรู้สึกที่ดีเลอค่าสำหรับตัวเราเองมากๆ และมันอาจจะเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้เราไม่ยอมหยุดอยู่ตรงจุดนั้น และสอนให้เราก้าวผ่านปัญหา และคิดว่าเดี๋ยวปัญหามันก็ผ่านไป พอเริ่มยอมรับความเป็นจริงได้มากขึ้นและคิดว่าปัญหาอะยังไงมันก็มีอยู่แล้ว และเดี๋ยวเราก็แก้มันได้ผ่านไปเหมือนที่เคยทำมา เราก็มองปัญหาต่างไปเลยนับจากนั้น
เออก็ปัญหาอะ เจอก็แก้ เรื่องมันก็แค่นั้น
แต่มันมีความต่างระหว่างการแก้ปัญหากับหนีปัญหาอยู่เหมือนกัน จริงอยู่เราอาจจะไม่ได้มองเป็นเรื่องใหญ่เหมือนที่เคยผ่านมา มันคงเป็นเพราะเราเริ่มจัดลำดับความสำคัญระหว่างเรื่องเร่งด่วน เรื่องที่ต้องทำ และเรื่องฉุกเฉินได้ดีขึ้น มันไม่เหมือนกับการหนีปัญหาที่ผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยเปื่อย หรือให้คนอื่นมาแบกรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เหมือนกับที่หนังสือเรื่อง ทำไม Netflix ถึงมีแต่คนโครตเก่ง เขียนเอาไว้ประโยคนึงที่ว่า “คนที่ค้นเจอปัญหาน่ะ ไม่ได้เจ๋งเลย คนส่วนมากคิดว่านั่นคือหน้าที่สำคัญ : ฉันคือผู้คนพบปัญหาเลยนะ! โอเค ก็ดีแล้ว แต่คุณแก้มันได้หรือเปล่าล่ะ เราต้องการคนที่ชอบแก้ไขปัญหาต่างหาก”
มุมมองของเรากับปัญหา
พอเราโตขึ้น เราจัดการกับปัญหาได้ดีขึ้นหรือเปล่า..ก็คงใช่และไม่ แต่ถ้าย้อนกลับมาถามตัวเองว่าเรารู้หรือเปล่าว่าจะแสดงออกกับปัญหาที่เกิดขึ้นยังไง ก็คงตอบว่าใช่ เราคงแค่มีประสบการณ์มากขึ้นที่จะจัดการกับเรื่องนั้น เราคงบอกตัวเองให้ใจเย็นๆ เราคงบอกตัวเองว่าอย่าเพิ่งเก็บมันมาคิด เราคงบอกตัวเองว่าถ้าทำดีที่สุดที่เราจะทำได้แล้ว อะไรที่เกิดขึ้นแล้วยังเป็นปัญหาอยู่ก็ปล่อยมันไปเถอะ
มันเหมือนกับการอ่านหนังสือ คนเราชอบคิดว่าอ่านหนังสือแล้วจะทำให้เราได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น ก็คงใช่แต่ส่วนน้อย สิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้มากที่สุดจากการอ่านหนังสือคือตอนที่เราเก็บประโยคข้อความเหล่านั้นไปคิดต่อ ไปทดสอบ ไปทดลอง ไปเปลี่ยนให้มันเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ของเราเอง บทความในหนังสือคงทำได้แค่เพียงชี้นำ ถ้าผู้อ่านไม่นำไปปรับใช้หรือค้นหาความจริงเพิ่มเติม มันก็คงได้แค่เพียงบทความๆนึงที่เราแค่อ่านเพื่อจำแล้ววันนึงมันก็เลือนหายไป
ก็เหมือนกับความผิดพลาด ถ้าเราไม่ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองเลยว่าความผิดพลาดและผลลัพธ์มันส่งผลกับเราผู้ที่ตัดสินใจยังไง วันหน้าเราก็คงแค่จำว่าอย่าทำแบบนั้นอีก แต่ถามว่าเราเข้าใจหรือยังว่าเราพลาดเพราะอะไร เรื่องนี้มันเหมือนกับการสอนเขียนโปรแกรมในทำนองเดียวกันเลย ถ้าเราสอนหรือบอกคนอื่นว่าอย่าทำวิธีนี้นะ ทำแล้วไม่เวิร์ค ช้า ทำงานไม่ได้ เด็กบางคนก็คงจำเอาไว้ แต่คงไม่รู้ว่ามันทำงานไม่ได้เพราะอะไร มันเหมือนกับการไปคัดลอกโค้ดกลาดเกลื่อนที่มีอยู่ตามอินเตอร์เน็ตแล้วมาแปะในโปรแกรมของตัวเอง
ถามว่าทำงานได้ไหม ก็คงได้ แต่จะมีสักกี่คนที่พยายามทำความเข้าใจมันจริงๆว่ามันทำงานได้ยังไง มันไปแก้ไขปัญหาตรงไหน แล้วเราจะไปปรับใช้หรือไม่พลาดในช่องโหว่เดิมๆที่เปลี่ยนรูปร่างไปในอนาคตไหม ก็คงแล้วแต่คน
ปีที่ 11 ที่เขียนบล็อกมา
ทุกปีผมจะย้อนกลับไปนั่งอ่านบทความเก่าของตัวเอง (บทความปีที่แล้ว: เขียนบล็อกมา 10 ปี.. แล้วสุดท้ายเราได้อะไร?) ดูว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง เราติดนึกคิดถึงเรื่องไหนในปีก่อนๆ แล้วเราโต้ตอบกับเรื่องที่เกิดขึ้นตอนนั้นยังไง แรกๆก็รู้สึกเหมือนไม่ได้อะไร จนพอทำไปนานวันหลายปีเข้า ก็พอเห็นภาพการนึกคิดของเราที่เปลี่ยนไปตามเวลา บางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าถูกในช่วงเวลานึง อาจจะเป็นสิ่งที่ผิดในช่วงเวลาต่อมา ก็ถือว่าไม่เป็นไร ได้เรียนรู้อะไรบ้างไม่มากก็น้อย
ปีนี้ชอบย้อนคิดถึงวันเก่าๆช่วงเวลานึง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นประมาณสองปีที่แล้ว มันเป็นช่วงเวลาที่ต่างกับต้นบทความที่เขียนอธิบายไปว่าเวลาเราเจอปัญหาแล้วเรามีคนที่อยู่ในบริบทเดียวกับเราพบเจอเหมือนกัน มันจะช่วยให้เราผ่านจุดนั้นไปได้ไม่ยาก แต่ช่วงที่นึกถึงนี่เป็นช่วงที่อยู่คนเดียว มาทำงานในห้องสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 3×3ม เที่ยงเข้ามาทำงาน ห้าทุ่มเที่ยงคืนก็ออกจากออฟฟิศกลับบ้านไป วันแต่ละวันไม่ได้พูดจาจริงจังกับใครเลย ซื้อกาแฟ ซื้อข้าว ใช้ชีวิตเหมือนไม่มีสังคม เหมือนเป็นหุ่นยนต์ที่ทำตามหน้าที่จนกว่าจะสำเร็จวันใดวันหนึ่ง
ทุกคืนที่ออกจากออฟฟิศในเมืองแล้วขับรถกลับบ้านเป็นช่วงที่คิดเยอะมาก จิตใจไม่ได้อยู่กับถนน ได้แต่ถามตัวเองทุกวันว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้จะให้ผลลัพธ์กลับมาเป็นอะไรและกลับมาเมื่อไหร่ มันเป็นช่วงที่อธิบายไม่ถูกว่าเราควรรู้สึกอะไร ต่างกับตอนที่เรียนโทเพราะยังมีเพื่อนพี่น้องที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน อย่างน้อยยังมีอะไรให้คุยแล้วลืมความเจ็บปวดช่วงนึงไปได้ แต่นี่ไม่เลย มันเหมือนมีแค่เราคนเดียวที่ถามตัวเองทุกวันว่าเรากำลังทำสิ่งที่เรารักอยู่จริงหรอ แต่มันก็สอนอะไรเราหลายอย่างเหมือนกัน พออยู่กับตัวเองนานๆเข้า มันเหมือนมีตัวเองที่คอยตั้งคำถามแบบ critical question ยิงมาเลย หยุดมั้ย พอมั้ย จะทำอะไร ทำไปทำไม ก็ดีเพราะมันช่วยให้เราซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเองนับจากนั้น
แต่ท้ายที่สุดมันก็ผ่านไปเหมือนปัญหาเรื่องอื่นๆ ข้อดีอย่างนึงเวลามันเกิดปัญหาคล้ายเดิมคือเราไม่ได้รู้สึกอะไรแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว มันเหมือนเราสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา และมองว่ามันก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขไม่ต่างอะไรกับเรื่องอื่นๆที่อยู่ใน To-do list
ปีหน้าก็ว่ากันใหม่ อะไรที่ทำเต็มที่แล้วก็คงไม่เสียดาย
เดี๋ยวมันก็ผ่านไปเหมือนเรื่องอื่นๆที่เคยเกิดขึ้นนั่นแหละ