การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจของคนเราขึ้นอยู่กับสังคมและบริบทแวดล้อม ก็เหมือนกับต้นไม้ใบหญ้าที่เราปลูกขึ้นมา บางชนิดไม่สามารถเติบโตขึ้นเป็นลำต้นมาได้หากไม่ได้รับแสงหรือความชื้นหรือน้ำที่เพียงพอ แต่ก็มีบางต้นที่สามารถโตขึ้นจากเมล็ดในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นชินได้ และพัฒนาการไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างกับต้นไม้ในสกุลเดียวกันไป เช่นทนร้อนได้ดี หรือใช้น้ำน้อยในการเติบโต
สังคมและบริบทแวดล้อมที่ช่วยทำให้เราเติบโต
คนเราก็เหมือนกันครับ เราเติบโตมาในสถานภาพทางสังคมที่ต่างกัน ทั้งการเลี้ยงดูของครอบครัว เพื่อนฝูงรอบข้าง รวมไปถึงผู้ที่ให้ความรู้อย่างครูอาจารย์ ซึ่งทำให้แต่ละคนพบเจอความยากลำบากในการใช้ชีวิตที่ต่างกันไป และความแตกต่างนี้เองที่ทำให้ใครหลายคนมีพัฒนาการที่ต่างกันไปด้วย สิ่งที่น่าสนใจคือตัวแปรใดบ้างที่จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาตนเองได้ดี และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เข้ามาในแต่ละช่วงเวลา
สิ่งที่ทำให้เราโตขึ้นคือความทุกข์ ไม่ใช่ความสุข
เคยสังเกตไหมครับว่าช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าเราโตขึ้น ได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น และมีพัฒนาการการปรับตัวได้มากขึ้นนั้นมาจากการผ่านปัญหาอุปสรรคเรื่องเลวร้ายต่างๆ ความทุกข์เหมือนช่วยให้เราสร้างภูมิคุ้มกันทางสภาพจิตใจและเป็นความทนทานที่เพิ่มขึ้นต่อความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ช่วงที่ผมรู้สึกว่าตัวเองมีพัฒนาการและได้เรียนรู้อะไรเยอะมากมีอยู่ 2 ช่วง หนึ่งคือช่วงเรียนป.โทภาคค่ำ และอีกหนึ่งคือช่วงที่ตั้งบริษัทแรก ทั้งสองอย่างมีช่วงเวลาที่เหมือนกันอย่างนึงคือหลังจากผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว เราจะเป็นคนที่คิดรอบคอบในการเลือกตัดสินใจมากขึ้น ซึ่งบริบททุกอย่างนั้นเหมือนเดิมทุกอย่างเลย เราก็ยังเป็นคนๆเดิมอยู่ในสถานที่และสถานะแทบจะแบบเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเดียวคือความคิดที่ใช้ในการตัดสินใจ
ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์การเป็นอยู่ทุกวันนี้ ย่อมมาจากการตัดสินใจในอดีต และการตัดสินใจในวันนี้จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเราจะอยู่ในจุดไหนในอนาคต
การเรียนโทภาคค่ำ ช่วยให้เราเห็นเพื่อนพี่น้องคนอื่นที่มุมานะหลังเลิกงาน 9to5 มาแล้วต้องมานั่งอดทนกดเก็บความเหนื่อยเรียนต่อยัน 3 ทุ่มครึ่ง ไหนจะคุยงานหลังเลิกเรียนต่อวันละประมาณครึ่งชั่วโมง เสาร์อาทิตย์ไม่ค่อยได้พักต้องมารวมกลุ่มทำงานกันตามสถานที่ต่างๆ ภาพที่เห็นได้ประจำคือบางคนเหนื่อยมาก หน้าตาเหมือนจะไม่ไหวแต่ก็กัดฟันทำแบบนี้อยู่สองปี บางคนมีลูกเล็กต้องดูแลหลายอย่าง ภาพพวกนี้ทำให้เรารู้สึกว่าสภาพแวดล้อมที่เราอยู่นั้นมีแต่คนขยัน คนที่ไม่ยอม พอเห็นแบบนั้นเราก็อยากจะเป็นแบบนั้นบ้าง เหนื่อยก็ไม่ยอม ท้อก็ช่วยกัน ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรมากมายภายใน 2 ปี มากกว่าการเรียนในโรงเรียนมัธยม และมหาลัยตอนป.ตรี 4 ปีมาก
การตั้งบริษัทแรก ก็ช่วยให้เราผ่านความรู้สึกต่างๆหลายอย่าง เมื่อก่อนเราเป็นพนักงานกินเงินเดือนที่อื่นอาจไม่ต้องกังวลเรื่องค่าจ้างมาก ทำงานครบเดือนก็รู้วันที่จะได้เงินแน่ๆ ไม่ต้องพะวงในการหารายได้แค่ทำให้รายรับมากกว่ารายจ่ายในแต่ละเดือนก็ถือว่าโอเค ถ้างานไม่โอเค อยู่แล้วไม่ไหวก็ออกเปลี่ยนที่ใหม่ได้ แต่การเปิดบริษัทตัวเองมันทำแบบนั้นไม่ได้ มันไม่มีการพอแล้ว ปิดบริษัทแล้วออกมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น มันเหมือนเราบอกตัวเองว่าเราลาออกอีกไม่ได้แล้ว เราต้องทำอะไรให้ดีขึ้นแล้วผ่านจุดนี้ไปให้ได้เพื่อรักษาบริษัทเอาไว้
ผมอยู่ในทุกช่วงเวลาของบริษัท ตั้งแต่เริ่มจดทะเบียนตั้งจนถึงจดทะเบียนเลิก(ไปทำอีกบริษัทนึงแทน) ทำงานทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งบัญชี สัญญา ส่งเอกสาร ออกแบบ เขียนโปรแกรม ดูแลลูกค้า เพื่อนหลายคนก็บอกว่าทำไมไม่จ้างคนนอกมาทำ ซึ่งมันทำได้และก็อาจจะดีด้วย แต่เราอยากจะช่วยประหยัดเงินของบริษัทที่รายได้ไม่มีความแน่นอน ไม่ได้มีเงินการันตีเข้ามาในทุกเดือน อะไรที่พอทำได้เองก็ค่อยๆทำไป จนที่สุดแล้วกลายเป็นว่าทุกวันนี้เรารู้เรื่องบัญชี ภาษี การเขียนสัญญา และจิปาถะอื่นๆโดยไม่จำเป็นต้องถามใครเลย เรามีภูมิคุ้มกันมากพอที่จะใช้ในการทำธุรกิจอื่นต่อๆไปโดยไม่ได้พึ่งพาใคร
สภาพแวดล้อมที่เราโหยหา
พอมาตอนนี้เรารู้สึกว่าเราต้องการสภาพแวดล้อมแบบนั้น เราต้องการคนรอบข้างที่ขยันขันแข็ง เราต้องการคนรอบข้างที่เก่งเพื่อให้เราได้เห็นได้เปรียบเทียบและพัฒนาตนเอง การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ “สบายๆ” และ “เรื่อยๆ” นั้นอาจจะดีสำหรับหลายคนเพราะไม่ต้องดิ้นรนเปลี่ยนแปลงอะไรแล้ว แต่สำหรับบางคนรวมทั้งผมนั้นกลับรู้สึกว่าที่นี่ “ไม่มีอะไร” ไม่รู้สึกอยากที่จะอยู่ และไม่ได้เรียนรู้อะไร
อายุเรามากขึ้นทุกวัน แต่เราเองจะไม่ได้เรียนรู้เพิ่มอะไรจากวันวานได้อย่างไร.. นึกแล้วก็อยากย้อนกลับไปเรียนต่อ หรือไปเจอสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เราพัฒนาขึ้น ไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่เอื่อยๆเรื่อยๆ ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง