เวลาน้อยลง? ทำไมทำงานได้งานน้อยลงในแต่ละวัน

เราทำงานกันกี่ชั่วโมงบ้างครับในแต่ละวัน

งานอาจจะอยู่กับเราตั้งแต่ตื่นเช้าล้างหน้าแปรงฟัน ชงกาแฟแก้วแรกมาพร้อมกับเปิดคอมเช็คอีเมล บางครั้งมีงานที่ยังค้างจากเมื่อคืนที่ยังทำไม่เสร็จ ก็ทำต่อพร้อมกับกาแฟแก้วแรกของวันนั้นเลย บางทีผมนึกถึงสมองที่ยังไม่ตื่นเต็มที่ แต่ก็ถูก challenge ให้เริ่มทำงาน คิดงานจากของเมื่อวานหลายครั้งเหมือนกัน

แต่สมองตอนเช้าหลังจากได้นอนพักผ่อนอย่างน้อย ก็ดีกว่าสมองช่วงเมื่อคืนที่ถูกใช้งานจนล้ามาทั้งวันอยู่ดี คำถามที่สำคัญคือ เราทำงานกันวันละกี่ชั่วโมง?

แล้วงานที่ได้จากระยะเวลาที่แลกไปนั้นคุ้มค่าหรือเปล่า เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน สามารถวัดจากจำนวนงานที่ผลิตออกมาได้ไหม? หรือสมองเราจะรู้เองว่าวันนี้ทำงานได้เยอะเป็นที่น่าพอใจ หรือน้อยแบบไม่น่าพอใจ แล้วอะไรคือตัวชี้วัดการทำงานในแต่ละวันของเรากันแน่?

เราเองมารู้ตัวอีกทีก็หมดอาทิตย์เสียแล้ว ทำไมเวลาถึงเดินเร็วจัง

jindatheme, city base

สิ่งที่เราทำแต่ละวันคือสิ่งที่เราทำแบบเดิมซ้ำๆ ตื่นมาชงกาแฟนั่งทำงานเริ่มต้นวันใหม่ตั้งแต่ 8 โมงครึ่งไปจนถึง เที่ยงคืน ตี1 ตี2 เราถามตัวเองก็ได้คำตอบว่า เราไม่ได้ทำงานแบบลืมวันลืมเวลานะ เราก็รู้ตัวอยู่ตลอดว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ ตอนนี้กี่โมง มีกี่งานที่ต้องทำ มีงานไหนที่ต้องส่ง

เราทำแบบเดิมซ้ำๆ ร่างกายก็รู้สึกแบบเดิมซ้ำๆ เช้ามาก็พร้อมทำงาน ตกค่ำก็เหมือนคนไร้เรี่ยวแรงที่ต้องเตรียมงานให้วันรุ่งขึ้น ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนขั้นตอนพวกนี้ได้ (ตามประสาฟรีแลนซ์ หรือเจ้าของกิจการที่สร้างธุรกิจเอง) สิ่งที่เราควรสนใจคือ เราทำงานได้มีประสิทธิภาพตามที่เราคาดหวังไว้หรือเปล่า คุ้มไหมกับสิ่งที่ต้องแลกไปในแต่ละวัน

ตัวชี้วัดส่วนตัว

เมื่อเราโตขึ้น
เราอาจเข้าใจว่าเงินทองไม่ได้สำคัญที่สุดแต่คือเวลา เรามีเวลาเท่าไหร่ เราเหลือเวลาเท่าไหร่ เรากำลังจะใช้เวลากับอะไร แล้วถ้าใช้เวลากับสิ่งนั้นจะคุ้มค่ากับเวลาที่ไม่ได้ใช้กับสิ่งอื่นหรือเปล่า

แต่ก็มีบางคนที่ใช้เวลาอย่างสุรุ่ยสุร่าย แล้วเที่ยวบอกคนนั้นคนนี้ว่าโชคดีจัง มีโอกาสอย่างนั้นอย่างนี้ พูดจาว่ากล่าวโทษสิ่งรอบตัวไปเรื่อยเปื่อย โดยที่ไม่ได้คิดเลยว่าคนอื่นเขาแลกเหงื่อแลกเลือดหรือความรู้สึกอะไรแตกสลายไปบ้างกว่าจะได้ถึงวันนี้

คนเรามีเวลา 24 ชั่วโมงต่อวันเหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน บางคนอาจจะแบ่งอย่างชัดเจน 8-8-8 (8 ชั่วโมงนอน, 8 ชั่วโมงทำงาน และ 8 ชั่วโมงเวลาส่วนตัว) สามารถกำหนด work-life balance ได้อย่างชัดเจน ส่วนบางคนที่เป็นพนักงานออฟฟิศอาจจะแบ่งเวลาเป็น 6-10-8 (6 ชั่วโมงนอน, 10 ทำงาน และ 8 ชั่วโมงเวลาส่วนตัว) ซึ่งก็ยังถือว่าค่อนข้างหนักขึ้นพอสมควร

work-life balance?

แต่บางคนที่ไม่สามารถแบ่งได้ ถึงแม้จะพยายามขนาดไหนแล้วก็ตาม งานที่ถาโถมเข้ามาก็ยังไม่หยุดหย่อนและตัวเองก็เริ่มตระหนักได้ถึงภาระที่มากขึ้น จึงต้องแลกเวลาส่วนตัวออกไปเป็นเวลางาน สุดท้ายแล้วตัวเองก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้คือ มีความสุขกับการทำงานจนลืมวันลืมคืน (Flow state) หรือทนทุกข์ทรมานกับการทำงานที่หนักหนาและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

นอนเท่าเดิม (เพื่อสุขภาพ หนังสือหลายเล่มแนะนำพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมง) เวลาทำงานมากขึ้น เวลาส่วนตัวลดลง เหมือนกับมีงานเยอะขึ้น แทนที่จะแบ่ง 8 ชั่วโมงไปทำหลายงาน เราจะแบ่งเวลาส่วนตัวไปให้กับงานอื่นๆแทน

สุดท้ายสิ่งที่เราทำได้เพียงคาดหวังในแต่ละวัน ว่าการที่ตัวเองพยายามอย่างหนักจะตอบแทนให้ผลที่คุ้มค่าในอนาคต ซึ่งก็ไม่รู้ว่าการตอบแทนนั้นจะมาในรูปแบบไหนและเมื่อไหร่.. ได้แต่ทำแบบเดิมไปเรื่อยๆทุกวันโดยคาดหวังว่าการตอบแทนอาจจะเกิดขึ้นจริง หรือไม่จริงก็ได้ในวันข้างหน้า

ความรู้สึกของการที่อยู่บนทางสองแพร่งในทุกเช้าที่ตื่นมา ว่าจะทำต่อหรือล้มเลิกนั้นก็มีอยู่ทุกวัน เราไม่เคยรู้เลยว่าต้องทำไปถึงเมื่อไหร่ หรือเมื่อไหร่ที่ความไม่แน่นอนพวกนี้จะหายไป น่าแปลกทั้งๆที่เราเองน่าจะรู้ตัวดีกว่าใครแท้ๆ

สมมติว่าทำงานทุกวันติดต่อกัน 1 ปี(อาจจะเป็นในอุดมคติ) ส่วนต่างของเวลาที่ได้น่าจะมีมากโข มากพอที่จะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้มากกว่าคนอื่นที่มีเวลาส่วนตัวมากกว่า.. แต่เรื่องสภาพจิตใจก็คงต้องแล้วแต่คน

ถ้ามีคนมาถามว่าทำงานวันละกี่ชั่วโมง

ก็คงตอบไปว่าไม่รู้เหมือนกันว่าวันละกี่ชั่วโมง แต่ถ้าว่างเมื่อไหร่ก็ทำ ทำจนไม่มีเวลาว่าง พอไม่มีเวลาว่างก็จะได้ไม่ต้องมีเวลามาคิดว่าจะทำอะไร เรื่องมันอาจจะเป็นแบบนั้น

แค่นั้นเลยจริงๆ

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ