บทความก่อนหน้านี้เราพูดถึงเรื่อง คนไทยกลับมาใช้งานเว็บไซต์ผ่านคอมพิวเตอร์มากกว่ามือถือและแท็บเล็ต ในบทความ 2020 ปีที่คนจะกลับมาใช้คอมเข้าเว็บมากขึ้นกว่ามือถือ? คิดว่าหลายคนที่อยากจะมีเว็บไซต์ หรือมีไอเดียกำลังจะพัฒนาเว็บไซต์ใหม่น่าจะมีข้อมูลใช้อ้างอิงในการปรับตัวกันพอสมควร
ในบทความนี้เราจะไปดูสถิติอีกนิดหน่อยซึ่งจะครอบคลุมถึงเรื่องระบบร้านค้าออนไลน์ (e-commerce), การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (online payment) และประเภทของสินค้าต่างๆ ที่ขายดีเป็นที่นิยมในปีที่ผ่านมาครับ
ไม่ใช่โพต์ทุกประเภทจะเป็นที่นิยม
ใน Facebook นั้น เราสามารถสร้างโพสต์ขึ้นมาในรูปแบบต่างๆได้ทั้งแบบ ข้อความธรรมดา โพสต์วิดีโอ(vlog กำลังมาแรง) โพสต์เป็นอัลบัมรูป(เพจท่องเที่ยวฮิตกันมาก) และโพสต์แบบแชร์ลิงค์เว็บไซต์ที่น่าสนใจ แต่รู้ไหมครับว่าแต่ละประเภทนั้นมีจำนวนคนสนใจต่างกันไปด้วยเช่นกัน
ผมหยิบสถิติหน้า 48 มาให้ดูครับว่า โพสต์แบบวิดีโอ นั้นเป็นที่นิยมมากที่สุดในปีที่ผ่านมา และส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นที่นิยมต่อๆไปในอนาคตด้วยเหมือนกัน เพราะดึงความสนใจของผู้ใช้งานได้ดีกว่า แต่วิดีโอที่แชร์นั้นจะต้องน่าสนใจด้วยในเวลาเดียวกัน (โพสต์ประเภทวิดีโอน่าสนใจกว่าโพสต์แบบข้อความทั่วไป 3-4 เท่าเลยทีเดียว)
ทำแอปแบบไหนดีให้ที่เป็นที่นิยม
สำหรับประเภทของแอปที่เป็นที่นิยมในปีที่ผ่านมาก็ยังเป็นแอปประเภทแชทอยู่ จากสถิติรูปด้านล่างเราจะเห็นว่าวัยทำงานส่วนใหญ่มักใช้โซเชียลมีเดียและแอปแชทบ่อยมากในชีวิตประจำวัน โดยที่น่าสนใจรองลงมาก็จะเป็นแอปประเภท shopping ที่ปีที่แล้วมีการจัดแคมเปญออนไลน์มากมาย รวมถึงโปรโมชั่นต่างๆ ที่ให้คนโหลดแอปและเลือกซื้อผ่านมือถือ ที่เราเห็นกันประจำเลยก็จะเป็น Lazada และ Shopee นั่นเอง
ในปีนี้เทรนด์สุขภาพกำลังมา เป็นที่น่าจับตามองว่าหมวดสุขภาพ(หรือ Health and Fitness) จะมีสัดส่วนการใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้นหรือเปล่า ซึ่งสถิติตรงนี้น่าจะแปรผันกับอุปกรณ์ตรวจวัดคลื่นหัวใจอย่างยอดขายของ smartwatch อย่างมีนัยสำคัญด้วยเหมือนกัน
ชายหญิงทำธุรกรรมออนไลน์พอกัน
ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศมีบัตรเครดิตประมาณ 10% (น่าจะอยู่ราวๆ 700,000 คน แบ่งเป็นชายหญิงอย่างละครึ่ง) ฉะนั้นการทำเว็บไซต์หรือแอปให้รองรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตอย่างเดียวน่าจะยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานส่วนใหญ่ได้
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการรับชำระเงินออนไลน์หลายเจ้าที่ให้บริการรับชำระผ่านการโอนเงินทางระบบธนาคาร หรือเลือกจ่ายด้วยวิธีอื่นที่หลากหลายกว่าทั้งเคาน์เตอร์ เซอร์วิสก็ดี หรือบัญชีวอลเล็ตต่างๆ ก็ดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าที่คุณขายด้วยเหมือนกันว่าการชำระเงินแบบไหนจะเหมาะสมกับธุรกิจ
ถ้าขายสินค้าราคาแพงเช่น เฟอร์นิเจอร์หลักหมื่นบนเว็บไซต์ ถ้าคนสนใจอยากจะซื้อออนไลน์ ก็น่าจะตั้งสมมติฐานได้ว่าคนนั้นอาจจะมีบัตรเครดิตอยู่แล้ว เพราะสินค้าที่ซื้อราคาสูงอะไรทำนองนี้ครับ
คนไทยนิยมซื้อของออนไลน์ไม่เปลี่ยนแปลง
90% บอกว่าวัยทำงานมักจะเข้ามาหาข้อมูลสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ผ่านอินเตอร์เน็ตก่อน โดยแตกย่อยออกมาต่อว่า 82% ของกลุ่มนี้ซื้อผ่านทางออนไลน์ โดยเข้าเว็บผ่านคอมซื้อประมาณ 34% และผ่านมือถือกว่า 69%
ถ้าปริมาณการใช้คอมในการเข้าเว็บไซต์เพิ่มสูงขึ้นจากบทความก่อน นั่นหมายถึงโอกาสหรือเปอร์เซ็นการซื้อผ่านคอมในปีนี้น่าจะเพิ่มสูงขึ้นด้วยในเวลาเดียวกัน หลายเว็บไซต์อาจจะต้องปรับตัวทำระบบตะกร้าสินค้าเพิ่ม เพื่อให้ผู้ใช้งานทำงานได้อย่างต่อเนื่องไม่หลุดไประหว่างการเปลี่ยนผ่านอุปกรณ์
โดยหมวดหมู่สินค้าที่ยังเป็นที่นิยมสูงที่สุดเลยคือ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือพวกสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างแก็ดเจ็ต แต่ก็ต้องรอดูกันว่าปีนี้จะไปต่อได้อีกไกลแค่ไหนเพราะมีหลายปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจที่ทำให้หลายคนต้องหยุดการใช้เงินกันพอสมควร ประเภทที่เป็นที่นิยมรองลงมานั่นก็คือสินค้าแฟชั่นนั่นเองครับ
แต่ถ้าดูเปอร์เซ็นต์การเติบโต เราจะเห็นว่าสินค้าประเภทอาหารหรือสินค้าสุขอนามัยส่วนบุคคล(เช่นครีมบำรุง วิตามิน ฯลฯ) เติบโตมากที่สุด นั่นอาจจะเป็นเพราะคนเราหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จึงเห็นสินค้าประเภทเวย์โปรตีน อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพต่างๆ เริ่มขึ้นมาขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต และมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากขึ้นตามเทรนด์ในปีนี้
คนไทยจ่ายเงินซื้อของออนไลน์ด้วยวิธีไหน?
ปิดท้ายบทความ อยากจะพาไปดูสถิติการใช้จ่ายซื้อของออนไลน์กันสักหน่อย จากภาพด้านล่างเราจะเห็นว่าคนไทยยังใช้บัตรเครดิตในการชำระเงินอยู่ โดยมีวอลเล็ต และการโอนเงินผ่านธนาคารเป็นลำดับถัดๆมา
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเว็บไซต์ หรือแอปส่วนใหญ่ยังมีระบบรองรับชำระเงินที่ไม่หลากหลาย ที่พบเจอได้บ่อยที่สุดคือมีวิธีเดียวคือซื้อแล้วตัดเงินผ่านบัตรเครดิต ซึ่งเข้าใจได้ว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่จะทำให้ระบบสามารถทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้คนมาตรวจสอบ(automation)
แต่เดี๋ยวนี้ผู้รับชำระหลายเจ้าก็ทำระบบ automation กับการชำระเงินผ่านการโอนแล้วเหมือนกัน เหมือนเวลาที่เราซื้อของผ่าน Lazada กรอกรายละเอียดการโอนในแอปธนาคารตามที่เว็บไซต์แจ้งมา เมื่อจ่ายเงินปุ๊บไม่ถึง 5 วินาทีเว็บไซต์ก็ตรวจสอบได้เลยว่าโอนเงินเข้าไปแล้ว โดยที่เราไม่ต้องไปแจ้งผ่านแบบฟอร์มชำระเงินอีก
อีกประการหนึ่งคือการใช้บัตรเครดิตมักจะได้แต้มสะสมของบัตรกลับมาตามสิทธิ์การใช้ของแต่ละธนาคาร และแต่ละประเภทบัตร และชื่อของมันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น “เครดิต” นั่นหมายถึงเราไม่จำเป็นต้องจ่ายเป็นเงินสดไปก่อน ช่วยให้สามารถผ่อน หรือยืดระยะเวลาการนำเงินออกจากบัญชีออกไปได้อีกพอประมาณ
สำหรับข้อมูลที่นำมาย่อยสรุปเลือกประเด็นขึ้นมาเขียนนี้ต้องขอขอบคุณการวิเคราะห์ของ Wearesocial อีกครั้ง ที่มีข้อมูลมากมายที่เป็นประโยชน์รวบรวมมาให้ใช้ในการตัดสินใจได้ทุกปี เดี๋ยวเราคงต้องติดตามกันต่อว่าปีหน้าสถิติจะเป็นอย่างไร ตรงตามที่เราคาดไว้หรือเปล่า และส่วนตัวคิดว่าคงจะต้องหยิบมาเขียนเป็นบทความอีกเหมือนเคยครับ