Cognitive Dissonance กับ Daredevil

Daredevil เป็นซีรีย์ของ Netflix ที่สร้างขึ้นมาแล้วผมรู้สึกว่ามันเป็นหนังที่มากกว่า หนังฮีโร่ต่อยตีทั่วไป ลักษณะของตัวละครมันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาบางอย่าง และดูเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่าเป็นหนังพื้นๆ ที่ว่าด้วยเรื่องของผู้ดีกับผู้ร้ายมีปัญหากัน

ผมไม่ค่อยชอบดูหนังประเภทนี้เท่าไหร่ เพราะส่วนมากเท่าที่เคยผ่านตามาทั้งหมดก็พล็อตเรื่องแบบเดิมๆ มีตัวดีมีตัวร้าย สู้กันไปสู้กันมาสุดท้ายตัวดีชนะ แสดงให้เห็นถึงธรรมะย่อมชนะอธรรมเป็นแบบนี้แทบทุกเรื่อง และส่วนตัวชอบหนังประเภทดราม่า หรือเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์จึงไม่น่าจะไปด้วยกันได้

แต่พอได้ลองเปิดใจดูซีรีย์เรื่อง Daredevil ไปสัก 2-3 ตอนเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่หนังฮีโร่ทั่วไป แต่กลับเป็นเรื่องของสภาพจิตใจ ศาสนา และสภาพแวดล้อมที่รู้สึกผูกได้กับตัวละครของเรื่อง จึงอยากจะหยิบมาเขียนเล่าเกี่ยวกับตัวเอกของเรื่อง ซึ่งขอสรุปพอสังเขปได้ดังนี้

เรื่องนี้พูดถึงชายผู้ตาบอดตั้งแต่เด็กด้วยอุบัติเหตุ เหตุการณ์นั้นทำให้สูญเสียการมองเห็น แต่ประสาทสัมผัสอื่นๆ กลับดีขึ้นแทนเช่นได้ยิน ได้กลิ่น และความรู้สึกอื่นๆ จนสามารถทำทุกอย่างได้เหมือน และดีกว่ามองเห็นเสียอีก ตัวเอกทำงานเป็นทนายในตอนกลางวัน และเป็น Daredevil สู้กับผู้ร้ายในตอนกลางคืน

daredevil
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ imdb

ตัวเอกของเรื่องปกปิดตัวเองกับคนรอบข้างเกี่ยวกับประสาทสัมผัส สิ่งที่ทำในตอนกลางคืน ซึ่งแน่นอนว่าคนรอบข้างนึกว่าตัวเองเป็นเพียงแค่คนตาบอด และ treat เขาเป็นคนตาบอดทั่วไป การต่อสู้กับผู้ร้ายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตัวเอกไม่ได้มีพลังพิเศษ หรือฉลาดเลิศอะไร ถ้านอกจากประสาทสัมผัสที่ดีแล้วก็แทบจะไม่มีอะไรเลย

จุดนี้เองที่พล็อตเรื่องสร้างผู้ร้ายให้อยู่ในสถานะที่เป็นคนควบคุมทุกอย่างในเมืองที่พระเอกอยู่ ทั้งตำรวจ ศาล ฯลฯ​ เรียกได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลจนคนอื่นแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้

ทั้งเรื่องจะเห็นว่าแทบจะไม่มีใครมีอะไรวิเศษในมุมมองของหนังฮีโร่เลย แต่ตัวเรื่องกลับตีแผ่ความเป็นอยู่ และสถานะทางสังคมที่เรียกได้ว่าสมจริงเหมือนกับโลกแห่งความจริงได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ผู้ชมมักจะเห็นตัวเอกต้องทำทุกอย่างทั้งตอนกลางวันที่เป็นทนายเพื่อใช้กฏหมายเอาผิดกับตัวร้ายซึ่งควบคุมทุกอย่างเบ็ดเสร็จ และใช้วิธีศาลเตี้ยในตอนกลางคืนเพื่อค่อยๆ สืบสาวเรื่องราวจากลูกสมุนตัวเล็ก ไปจนถึงหัวหน้า

เพราะความจริงบางครั้งเอาผิดผู้ทำผิดไม่ได้

เหมือนโลกแห่งความเป็นจริงไม่มีผิด ผู้ชมที่ได้ดูการดำเนินเรื่องราวมักจะพบว่าตัวเอกพยายามทำทุกอย่างในแง่ของกฏหมายเพื่อหาวิธีเอาผิด และดำเนินคดีกับตัวร้าย แต่ก็ไม่พ้นเจ้าหน้าที่รัฐที่รับสินบน เพราะไม่ว่าจะทำอะไรที่จะเป็นวิธีเอาผิดได้ เรื่องกลับโดนดักทางไว้ก่อนล่วงหน้าเสมอเพราะเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ส่งเรื่องให้ตัวร้ายเสียเอง

ตัวเอกจึงต้องพยายามเล่นบทบาทศาลเตี้ยเพื่อคอยเก็บกวาดควบคู่ไปด้วยในเวลากลางคืน ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้ผู้ชมเห็นถึงการตัดสินใจหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็น หากกฏหมายไม่สามารถเอาผิดคนทำผิดได้ คนอื่นจะใช้วิธีของตัวเองในการทำสิ่งที่ต้องประสงค์อย่างวิธีศาลเตี้ยที่ตัวเอกทำเป็นต้น

ความไม่ลงรอยทางความคิด

หรือ ทฤษฎีความขัดแย้งทางความคิด (Cognitive dissonance) ในบริบทของจิตวิทยาสามารถอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเอกของเรื่องได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อเป็นนักกฏหมาย และไม่สามารถใช้กฏหมายกับผู้กระทำความผิดได้ ตัวเอกจึงสับสนถึงการใช้ชีวิตอย่างปกติในช่วงเวลากลางวันที่เป็นผู้รักษากฏหมายและมีสังคมรอบข้างเหมือนคนทั่วไป หรือจะไปปลีกตัวใช้วิธีศาลเตี้ยอย่างถาวรเพื่อทำให้ผู้กระทำความผิดรับโทษให้ได้

ผู้ชมจะเห็นความคิดที่ขัดแย้งในตัวเอกอยู่บ่อยครั้ง เหมือนกับส่องกระจกเห็นตัวเองในโลกของความเป็นจริงว่าบางครั้งเราเองเมื่อใช้วิธีที่ถูกต้องแก้ไขปัญหาไม่ได้ เราก็จะใช้อารมณ์ตัดสินสถานการณ์ หรือแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยวิธีของตัวเอง ซึ่งไม่สนใจว่ามันเป็นวิธีที่ถูกต้องตามหลักหรือไม่ ยิ่งเมื่อสมองเราเริ่มคิดไปว่า “ทีคนอื่นยังทำแบบนั้นได้ แล้วทำไมเราจะทำแบบนี้ไม่ได้” สุดท้ายก็ไม่มีใครใช้กฏหมาย หรือกฏเกณฑ์ตามหลักที่สังคมสร้างขึ้น

ถ้าบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าทุกคนไม่ทำตามกฏเกณฑ์ที่สังคมเป็นผู้กำหนดร่วมกัน ทุกอย่างจะแย่ลงขนาดไหน ให้ลองนึกถึงสภาพสี่แยกวัดใจไม่มีไฟแดง ไม่มีจราจร เวลาเร่งด่วนใครอยากจะไปก็ไป อยากจะจอดก็จอด อยากจะแทรกตรงไหนก็ตามใจฉัน ทุกอย่างล้วนฟังดูแย่เลยใช่ไหมครับ

“Knowing yourself is the beginning of all wisdom.”

อริสโตเติลเคยกล่าวเอาไว้เมื่อประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล ประโยคนี้กล่าวว่า การรู้จักตนเองถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งปัญญาทั้งมวล ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครรู้จักเราดีเท่าเราเอง ถ้างั้นการลดความคัดแย้งทางความคิดที่ดีที่สุดก็น่าจะคือการยอมรับตัวเองหรือเปล่า

ความคัดแย้งทางความคิดอาจเป็นต้นเหตุให้เรารู้สึกไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน นั่นเป็นเพราะบางครั้งเรายังไม่ยอมรับสิ่งที่ใครต่อใครพูด หรือเหตุการณ์อะไรที่เข้ามากระทบจนเราคิดว่ามันเป็นปัญหา พยายามบ่ายเบี่ยงหลีกหนีไม่ยอมรับมัน แต่ถ้าเราเปิดใจยอมรับ พยายามซื่อสัตย์กับตัวเองมากขึ้นอีกหน่อยว่าตัวเองต้องการอะไร แล้วพยายามปรับแก้ไข คงจะดีกว่าบอกว่ามันไม่ใช่เรา

เหมือนกับบทสุดท้ายของเรื่อง Daredevil ถึงแม้ว่าพล็อตหนังจะเดินเรื่องไปจนจบตามแบบตัวดีชนะตัวโกง แต่ระหว่างทางก็มีเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจไม่น้อย และถือเป็นซีรีย์ที่ทำให้ผู้ชมเข้าใจสังคม และจิตใจได้เป็นอย่างดี จริงๆ แล้วเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนาด้วยเหมือนกัน ในเรื่องเรามักจะเห็นตัวเอกเข้าโบสถ์ในหลายๆ ตอน โดยเฉพาะช่วงหลังที่ตัวเอกพยายามค้นหาตัวตนของตัวเอง แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่าคนที่เป็นคริสเตียนคาทอลิกน่าจะเข้าใจได้มากกว่า แต่อย่างไรก็ดีซีรีย์เรื่องนี้ก็ทำออกมาได้น่าติดตาม และน่าสนใจครับ

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ