วันนี้อยากจะเขียนบทความสั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ครับ ช่วงนี้อ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยา การพัฒนาตนเองทุกวันจนมาเห็นสองบทความที่น่าสนใจแล้วก็อยากจะหยิบมาเขียนเพิ่มเติมสักหน่อย
หัวข้อในวันนี้คือเรื่องของ Overconfidence หรือคนที่มีพฤติกรรมที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป และ Imposter syndrome ซึ่งเป็นคนอีกประเภทนึงที่แทบจะเรียกได้ว่ามีพฤติกรรมตรงกันข้ามคือ ไม่ค่อยมั่นใจในตนเอง แม้ว่าตนเองจะเชี่ยวชาญเรื่องนั้นก็ตาม
Overconfidence บุคคลที่มีความมั่นใจในตนเองสูง หรือตีความว่าตัวเองประเมินความสามารถของตนสูงเกินไป อาจจะคิดไปก่อนว่าเราสามารถทำอะไรต่ออะไรได้ มีความมั่นใจอย่างเหลือเชื่อจนเกิดความผิดพลาดได้ ซึ่งนักวิจัยพบว่าปัจจัยที่จะทำให้เกิดภาวะ overconfidence นั้นแบ่งได้ 3 อย่าง คือ
- Overestimation – คิดว่าเราดีกว่าที่เป็นอยู่นี้
- Overplacemnet – คิดว่าเราดีกว่าคนอื่น
- Overprecision – คิดว่าเรารู้ความจริง จริงๆ
3 อย่างนี้เป็นสิ่งที่เราพบเจอได้ในชีวิตประจำวันเลยใช่ไหมครับ โดยเฉพาะข้อสุดท้าย บางทีเรามั่นใจเสียเหลือเกินว่าสิ่งที่เรานั้นรู้เป็นเรื่องจริงอยู่แล้วแน่ๆ ซึ่งการมีความมั่นใจเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความกล้าในการแสดงออก แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นดาบสองคมที่กลับมาทำร้ายเราเองได้เหมือนกัน
โดยเฉพาะเมื่อเรามั่นใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้น เราใช้ประสบการณ์ หรือความรู้สึกที่มี “คาด” ว่ามันจะต้องมีผลลัพธ์ออกมาเป็นแบบหนึ่ง แต่ความจริงกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น จึงทำให้เกิดความผิดหวังตามมา และส่งผลด้านลบมากกว่าการตัดสินใจที่เราไม่ได้รู้สึกมั่นใจมากกว่าปรกติ
ผมได้เขียนไปในบทความ เข็มนาฬิกากับความฝัน เอาไว้ว่าการรู้สึกผิดหวังนั้นมาจากระยะห่างระหว่าง สิ่งที่เราคาดหวัง และสิ่งที่เราได้รับมาจริง ยิ่งระยะห่างมีมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เรารู้สึกผิดหวังมากขึ้นเท่านั้น แล้วยิ่งเป็นเรื่องที่เราคาดว่าเรารู้ดีรู้จริงด้วยแล้ว ความผิดหวังก็จะยิ่งอยู่กับเรานานขึ้น
แต่ในอีกมุมหนึ่ง การมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตก็ดูเหมือนจะเป็นสเน่ห์ได้เหมือนกัน เราชอบคนที่มีความมั่นใจในการตัดสินใจ การแสดงออก การใช้ความคิด แต่เราเองก็ยังรู้สึกอยู่ในอีกมุมนึงด้วยเหมือนกันว่าต้องเป็นความมั่นใจที่มีขอบเขตพอดิบพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป และที่สำคัญคือให้เกียรติกับบุคคลอื่น
เมื่อผิดพลาดอย่าอายที่จะกล่าวขอโทษอย่างตรงไปตรงมา
Imposter syndrome หรือพฤติกรรมที่รู้สึกว่าเราไม่เก่ง ไม่ค่อยมีความมั่นใจในการแสดงออกต่อหน้าสาธารณะ อันเป็นที่มาของการไม่ค่อยแชร์ประสบการณ์ เรื่องราวอะไรก็ตามแต่ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ หรือหลายคนมักจะเรียกว่า “อมความรู้”
แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปเราจะพบว่า ถ้าสมมติเราไม่ค่อยมั่นใจว่าคำตอบที่เรากำลังจะตอบออกไปเมื่อถูกใครก็ตามตั้งคำถาม เราก็มักจะตอบในเชิงกลางๆ ไม่เอนเอียงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งโดยมีคำเชื่อมอย่าง “คิดว่า”, “น่าจะ”, “อาจจะ”, “ไม่ค่อยแน่ใจ” ฯลฯ ซึ่งบางทีเราก็อยากจะหลีกเลี่ยงการปะทะทางความเห็นกับคนอื่นด้วยเช่นกัน
แล้วจะให้ทำยังไงได้ ในเมื่อถึงสถานการณ์ที่เราคิดว่าเราเชี่ยวชาญในด้านนั้น แต่บางทีก็ยังขาดความมั่นใจที่จะแสดงออกไป หรือยังคิดว่าเราเองก็คงยังไม่เก่งมากในเรื่องนั้นอยู่ บทความ Why You Should Embrace Your Impostor Syndrome เขียนเอาไว้ได้น่าสนใจมากครับ โดยผู้เขียนนั้นกล่าวว่าการที่เราคิดว่าตัวเองไม่เก่งเนี่ยมันก็มีข้อดีอยู่นะ ไม่ใช่มีแต่ข้อเสีย
หนึ่งในนั้นคือมันจะเป็นแรงกระตุ้นให้เราศึกษาเรื่องนั้นต่อไป เพราะในเมื่อเรายังคิดอยู่เสมอว่าเราเองก็ยังไม่มั่นใจว่าตัวเองเก่ง เราก็จะเปิดโอกาสหาความรู้ในเรื่องนั้นอยู่ตลอดเพื่อให้ตัวเองคิดว่าเราจะเก่งขึ้นได้ในวันหน้า อีกข้อนึงที่น่าสนใจคือมันจะช่วยให้เราพึงระลึกว่าเรายังเป็นเรา ไม่ได้ใช้ความรู้โอ้อวดมั่นใจเกินขอบเขต หรือเที่ยวบอกใครว่าฉันรู้แล้วเก่งแล้ว ใครก็แนะนำเพิ่มเติมไม่ได้
ทั้งสองพฤติกรรมล้วนมีข้อดีเสียแตกต่างกันไป เพราะความไม่สมบูรณ์นี้เองคือสิ่งที่น่าสนใจในตัวมนุษย์แต่ละคน และทุกการกระทำล้วนมีเหตุผลเฉพาะตัวแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเราจะรับฟังเหตุผลนั้นอย่างใจจริง หรือว่าจะแค่ตัดสินจากสิ่งที่เห็น หรือสัมผัสมาเท่านั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวเรา ไม่ว่าคนที่เราเจอจะมีพฤติกรรมแบบ overconfidence หรือ imposter syndrome เราก็ควรให้เกียรติกันและกันอยู่ดี
แต่การรับรู้ว่าแต่ละพฤติกรรมเป็นอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร จะปรับเปลี่ยนอย่างไร ก็เหมือนกระจกเงาที่ช่วยสะท้อนให้ตัวเองนำไปปรับปรุงได้ในอนาคต ดังคำกล่าวที่ว่า มั่นทำตัวเองให้เป็นน้ำครึ่งแก้ว เพื่อรับอะไรใหม่ๆได้อยู่เสมอ
เป็นบทความดีครับให้จข้อคิดดี
ขอบคุณมากครับ