นักเรียนตีกัน นักการเมืองต่างฝ่ายต่างทะเลาะไม่รู้จบสิ้น การฆาตกรรมที่ทำให้รู้สึกหดหู่จนบางทีก็ไม่รู้ว่าจิตใจคนทำด้วยอะไร หรือจะคนนั้นบ่น คนนี้ด่า พวกนี้มีให้เห็นแทบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นสื่อทางทีวี หนังสือพิมพ์ไปจนถึงโซเชียลมีเดียที่รวดเร็วทันใจอย่างกับว่าเราห่างกับสิ่งนั้นไม่กี่หลา
Michelle Geilan ซึ่งเคยเป็นนักข่าวได้ทำการสำรวจเอาไว้ว่า การอ่านข่าวเชิงลบไม่กี่นาทีในช่วงเช้าส่งผลให้ผู้อ่าน หรือผู้ฟังข่าวนั้นคิดว่าวันนั้นน่าจะเป็นวันที่โชคร้ายเพิ่มขึ้น 27% (อ้างอิง) การค้นคว้านี้อาจจะบอกเป็นนัยได้ระดับหนึ่งว่าการได้ยิน หรืออ่านข่าวที่ไม่ดีจะทำให้จิตของเราคิดในแง่ลบกับการใช้ชีวิตในวันนั้นมากขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย
ลองคิดกลับกันเล่นๆ ถ้าสมมติว่าเราไม่ต้องเจอข่าวร้าย หรือข่าวที่ไม่ดีเลยในวันนั้น จะมีผลอะไรกับความรู้สึกของเราบ้างไหม? เคยไหมครับ บางทีที่เราไถ feed อ่านอะไรไปเรื่อย เจอเรื่องของคนอื่นหลายๆคน ถึงไม่ได้เป็นเรื่องร้าย แต่ก็กลับทำให้เรารู้สึกเหมือนโดดเดี่ยวที่ไม่ได้เจอประสบการณ์อย่างที่คนอื่นเจอกัน
เพื่อนเก่าทั้งรุ่นนัดเจอกัน ไปเที่ยวต่างจังหวัดหลายวัน ลงรูปอัพเดทสถานะอย่างมีความสุข แต่เรากลับติดงาน หรือต้องทำงานในวันหยุด ใครคนนั้น คนนี้ที่รู้จักกันอย่างผิวเผินแค่ได้เจอหน้ากันเพียง 2-3 ครั้ง หรือทักทายกันไม่กี่หนได้เลื่อนตำแหน่ง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่เรายังอยู่ที่เดิมนับตั้งแต่วันที่ได้เจอกัน หรือแม้แต่เห็นคนอื่นได้ทานอาหารอร่อยๆ แต่เรากลับไม่มีใครไปด้วย ได้แต่นั่งทานข้าวร้านเดิมแทบทุกวัน
อาการพวกนี้เป็นบ่อเกิดของโรคซึมเศร้า และยังมีบทวิจัยของสถาบัน MIT เมื่อปี 2011 ก็พบด้วยว่า “คนที่มีอาการซึมเศร้าจะเกิดความรู้สึกด้านลบบ่อยกว่าคนทั่วไป และจะแสวงหาเยียวยาโดยหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อให้อารมณ์ดีขึ้น” แต่บางทีมันกลับไม่เป็นอย่างนั้นไง เพราะยิ่งเราเล่นมากขึ้น ก็ยิ่งเสพย์ติดเห็นอะไรมากขึ้น มันเหมือนกับการทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม เคยรู้สึกไหมครับว่าทำไมเรากลายเป็นคนที่หงุดหงิดอะไรง่าย อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ รู้สึกเบื่ออะไรง่ายหน่ายอะไรเร็ว
เทคโนโลยีทำให้เราเปลี่ยนไป?
เปล่าเลย เทคโนโลยีไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยนไป มันทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ทำอะไรได้สะดวกสบายมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนสมัยที่ยังไม่มีมัน เราอยู่คนละซีกโลกกับครอบครัวก็ยังเห็นกันได้ง่ายผ่านวิดีโอคอล เหงาอยากจะคุยกันกับเพื่อนก็แค่เปิดแอพฯ ขึ้นมาแชท เทคโนโลยีไม่ได้ทำให้เรารู้สึกแย่ลงเลย คนเราเองต่างหากที่พยายามสร้างเนื้อหาป้อนเข้าไป เพราะข้อมูลมันมหาศาล และเข้าถึงได้ง่าย เราถึงได้เกิดความรู้สึกมากมายแค่ในช่วงเวลาสั้นๆ และมันเองนั่นแหละที่ทำให้เราเปลี่ยนไป
เว็บไซต์ TIME เคยเขียนเอาไว้ว่า การอ่านข่าวเชิงลบ และน่าตกใจจะทำให้เราเกิดความเครียดอันเป็นที่มาของอาการอื่นๆอย่าง กระสับกระส่าย หงุดหงิด หรือมีปัญหาเรื่องการนอนตามมาได้ แน่ล่ะการติดตามข่าวสารจะช่วยให้เราทันต่ออะไรหลายๆอย่าง เวลาใครพูดเรื่องไรก็รู้เห็นพูดคุยด้วยได้ทันที หรือส่งผลดีกับธุรกิจที่รู้ทันว่าโลกไปถึงไหนแล้ว แต่มันก็อาจจะทำให้เราลืมไปด้วยเหมือนกันว่าความคิดของเรากำลังอยู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่ที่เรากำลังอยู่จริงๆ มันเหมือนกับว่าเรากำลังสนใจสิ่งอื่น สิ่งที่ไม่ได้อยู่ตรงหน้า
ผมเองเป็นคนที่อ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน หนังสือพิมพ์ที่อ่านก็เป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจ และเศรษฐกิจ ไหนจะมีเว็บข่าวเดิมๆ ที่กดคลิกทีสองทีก็แสดงขึ้นมาให้ทุกอย่างตามที่ตั้งเอาไว้ เคยรู้สึกว่าไม่อยากจะพลาดข่าวสารแม้แต่วันเดียว เพราะเห็นว่ามันเป็นโอกาสที่เราได้ติดตามว่าอะไรกำลังเป็นยังไง
จนเมื่ออาทิตย์ก่อน ได้มีโอกาสไปดูงานแล้วก็ได้เที่ยวประมาณหนึ่งอาทิตย์ ซึ่งเป็นอาทิตย์ที่ไม่ค่อยได้สนใจข่าวสาร หรือเข้าโซเชียลเลย ถึงแม้ว่าจะมีเวลาเดินทางนั่งอยู่บนรถเยอะ แต่ก็ไม่ได้คิดอยากจะสนใจเปิดอ่านข่าวนั่นอ่านนี่ มองสองข้างทางดูการใช้ชีวิตของคนท้องถิ่น เดินลงรถถ่ายรูปชมเมืองไปเรื่อย กว่าจะได้จับมือถือจริงจังอ่านอะไรเล่นจิปาถะอีกทีก็ห้าทุ่ม ง่วงพออยากจะเข้านอนแล้ว
ทำแบบนี้ติดต่อกันมาได้เกือบ 10 วันก็รู้สึกว่าก็อยู่ได้ ไม่ได้อ่านข่าวทันข่าวทุกวันก็ไม่ได้รู้สึกแย่หรืออะไร กลับรู้สึกดีว่ามีเวลาสนใจแต่ละเรื่องมากขึ้น เราอยู่กับสิ่งที่เราควรอยู่ตรงหน้า อ่านหนังสือได้มากขึ้น ไม่รู้สึกอยากติดเล่นอินเตอร์เน็ตเหมือนเมื่อก่อน จนตอนนี้เปิด screen time ขึ้นมาดูก็เห็นว่าใช้เวลากับโซเชียลในแต่ละวันไม่เกินครึ่งชั่วโมง
บางทีเราอาจจะไม่ได้รู้สึกแย่ลงเพราะโซเชียล หรืออินเตอร์เน็ตก็ได้ เราอาจจะรู้สึกว่าเราได้ใช้เวลาอยู่กับช่วงเวลาที่เราอยู่ตรงนั้นที่เราควรอยู่จริงๆ มากกว่าที่เราเคยเป็นมา ตอนนี้ผมเริ่มเข้าใจบ้างแล้วว่าทำไม CEO บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft หรือ Twitter ต่างมีช่วงเวลาที่พัก และห่างจากเทคโนโลยี ไปอ่านหนังสือ ทำสมาธิ ปลีกวิเวกออกไปจากสิ่งที่วุ่นวาย
คุณจะทำอะไรได้ไม่ดีเลยถ้าคุณไม่ทุ่มกับช่วงเวลานั้นเต็มร้อย ถ้าช่วงทำงานก็ตัดสิ่งรบกวนทุกอย่างออกไปให้หมดแล้วโฟกัสที่งาน ถ้าช่วงเวลาพักผ่อนอ่านหนังสืออยู่กับตัวเอง ก็เรียนรู้ที่จะต้องตัดงานออกไปบ้าง
เห็นด้วยครับ
คนในครอบครัว อ่านข่าว มากเกิน จน เศร้ามากๆ
ขอให้เขาหยุดอ่าน เขาก็หยุดไม่ได้
จะทำอย่างไร ดีครับ
มี อะไร บล็อกข่าวลบไหม