ช่วงต้นปีที่ผ่านมาผมได้ยินข่าวเกี่ยวกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือของคนไทยที่ทะลุแซงหน้าทุกประเทศ จนเรากลายเป็นประเทศที่ใช้เวลาอยู่กับจอมือถือมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ข่าวนี้มันบอกอะไรเราได้หลายอย่าง แล้วก็ตีความได้หลายอย่างเหมือนกัน แต่ที่สงสัยจริงๆ คือประเทศเรามีปัจจัยอะไรที่ทำให้การใช้งานสูงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก แล้วก็ย้อนกลับมามองตัวเองว่าเราเองอยู่ในจุดไหน เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ใช้โทรศัพท์นาน และบ่อยที่สุดในหนึ่งวันเลยหรือเปล่า (แน่นอนว่าเขาเก็บข้อมูลจากคนที่ตอบแบบสอบถาม ฉะนั้นจะมีคนที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์บ่อยรวมอยู่ด้วยเช่นกัน)
เลยไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ข้อมูลจาก DIGITAL 2019: GLOBAL INTERNET USE ACCELERATES จากเว็บไซต์ wearesocial ซึ่งเป็น slide ข้อมูลยาวกว่า 200 หน้า ผมจะหยิบมาแปะบางหน้าที่น่าสนใจ และดูเกี่ยวกับประเทศเราดังนี้ครับ
อย่างแรกคือสถิติการใช้ข้อมูลผ่านมือถือมีการเติบโตสูงขึ้นในทุกๆ ปี แต่จะเห็นว่าช่วงปีหลังๆ Q3 ของปี 2017 จนถึง Q3 ของปี 2018 กราฟมีการเพิ่มระดับชันมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าในอนาคตการใช้งานข้อมูลผ่านมือถือจะโตเร็วกว่านี้
เมื่อลงมาดูเป็นรายประเทศ จะพบว่าไทยอยู่อันดับ 3 ที่มีการใช้งานอินเตอร์เน็ตนานที่สุดในหนึ่งวัน ตัวเลขที่เก็บมาก็คือ 9 ชั่วโมง 11 นาที ซึ่งมากกว่าชั่วโมงการทำงานพื้นฐาน 8 ชั่วโมงนิดหน่อย สมมติว่าเรานอน 7-8 ชั่วโมง แสดงว่าเวลาที่มีในแต่ละวัน อินเตอร์เน็ตอยู่กับเรามากกว่าครึ่งนึงที่ของเวลาที่เราตื่นอยู่เลยทีเดียว
ถ้าอินเตอร์เน็ตมีส่วนในชีวิตเรามากขนาดนี้ แล้วในอนาคต ถ้าเราไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ในหนึ่งวันจะกระทบกับการดำเนินชีวิตมากขนาดไหน?
ที่น่าสนใจของรายงานนี้คือ มีการแยกอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตให้ด้วย จากรูปภาพข้างต้นเป็นรายงานที่บอกว่าประเทศไทยใช้มือถือในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก (ซึ่งจากรูปก่อนหน้าบอกว่าเราอยู่อันดับ 3 ในการใช้อินเตอร์เน็ตในแต่ละวัน) ซึ่งผมลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่าอุปกรณ์อื่นๆ อย่าง แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ คนไทยไม่ได้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้นานติดอันดับโลก
แสดงว่าคนไทยติดมือถือ และใช้มือถือเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตบ่อย และนานมากในแต่ละวัน เรารู้กันดีว่าถ้าจะทำงานอะไรสักอย่าง การใช้มือถือทำงานอาจจะไม่สะดวกเหมือนกับใช้แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ แต่การที่รายงานออกผลมาแบบนี้เหมือนเป็นตัวบ่งบอกได้อย่างนึงว่าเราอาจจะใช้มือถือเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในบริบทที่ไม่เกี่ยวกับงานเสียเป็นส่วนใหญ่
โชคดีที่รายงานนี้เขามีตัวเลขของเวลาที่ใช้โซเชียลในแต่ละวันมาให้ และคนไทยเองก็ใช้งานโซเชียลติดอันดับต้นๆ ของโลกเหมือนกัน โดยใช้เวลาในแต่ละวันเล่นโซเชียลอยู่ที่ประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ ถ้าเทียบกับเวลาที่ใช้มือถือของรูปก่อนหน้าที่ 5 ชั่วโมง นั่นหมายถึง เราใช้เวลาอยู่บนโซเชียลมากกว่าครึ่ง
จะบอกว่าการใช้เทคโนโลยีนั้นไม่ดี?
เปล่าเลยครับ เทคโนโลยีนั้นถือเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ มันช่วยให้ชีวิตเราสามารถทำอะไรๆ ได้ง่ายขึ้น ติดต่อกับเพื่อนที่อยู่ต่างประเทศโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ช่วยให้การผ่าตัดของหมอเป็นเรื่องง่ายขึ้น ช่วยให้วิเคราะห์สร้างบางสิ่งบางอย่างที่มนุษย์คิดไม่ถึงได้ และอีกมากมายที่พูดไปก็ไม่หมด
และมีรายงานหน้านึงที่บอกว่า การใช้งาน mobile banking ของประเทศเราโตขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วย ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้าง cashless sociaty
แต่ผมกลับมาลองนั่งนึกดูว่าการที่เราใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงต่อวันเล่นโซเชียล หรือคิดเป็น 14-20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นี้ก็ถือเป็นเวลาที่เยอะเหมือนกัน แล้วน่าจะเอาไปใช้ทำงาน หรือทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้มากกว่านี้
ผมได้ยินหลายคนบ่นว่า อยากมีเวลามากกว่านี้ในแต่ละวัน หรือจะทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ถ้ามีเวลามากกว่านี้ หรือคำพูดสุดคลาสสิคอย่าง “ไม่มีเวลา” ก็น่าสงสัยว่าถ้าเราได้เวลาเพิ่มมากขึ้นจากการใช้โซเชียล หรืออินเตอร์เน็ตน้อยลง เราจะยังพูดคำพวกนั้นอยู่หรือเปล่า คือเรื่องนี้ผมว่ามันเกี่ยวกับเรื่อง productivity ด้วย โดยเฉพาะคนขยัน หรือคนเก่งๆ หลายคนที่ผมเคยได้อ่าน หรือรู้จักส่วนตัวก็มักจะพูดถึงการวางแผนเวลาที่ใช้ในแต่ละวัน รวมถึงสร้างกฏเกณฑ์บางอย่างขึ้นมาไม่ให้เสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่องในแต่ละวันด้วยเช่นกัน
อย่างเรื่องของ notification พวกตอบแชท เช็คอีเมล์ ก็มีหนังสือหลายเล่ม และ podcast ของหลายคนที่แนะนำให้เปิดอ่านพวกนี้เป็นเวลา ไม่ได้ทันทีทันใดที่เราได้รับข้อมูล (อ่านบทความเก่า Productivity กับงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้?)
ใช้งานมือถือให้น้อยลง = เพิ่มเวลาทำเรื่องอื่นมากขึ้น
คือบางคนอาจจะเห็นด้วย หรืออาจจะไม่เห็นด้วยกับคำนี้ แต่ส่วนตัวผมเอง ผมมองว่าหากใช้มือถือน้อยลง แล้วกลับไปใช้คอมมากขึ้น อย่างน้อยก็อยู่ในอุปกรณ์ที่สามารถทำอะไรได้มากขึ้น อาจจะเปิดสลับไปทำงาน หรือเห็นสิ่งที่ต้องทำแล้วจะใช้เวลาอยู่กับเรื่องไม่เป็นเรื่องลดลงก็ได้
ผมไปเจอบทความนึงที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องการใช้มือถือให้น้อยลง โดยการเปลี่ยนหน้าจอเป็นสีแบบขาวดำ พออ่านแล้วก็รู้สึกว่าแปลกดี แต่ก็เป็นเรื่องจริงอยู่พอสมควร มีข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์สนับสนุน แล้วก็เปลี่ยนมุมมอง แง่คิดบางอย่างได้น่าสนใจดี
เขาบอกว่า ทุกวันนี้เวลาเราปลดล็อกมือถือขึ้นมาก็จะเจอสีของแอพฯ มากมายเต็มไปหมด ซึ่งมันเป็นส่วนช่วยกระตุ้นให้สมองเกิดความอยากรู้อยากเห็น ยิ่งถ้าเราได้เปิดเช็ค notification ต่างๆ หรือไถ feed ไปเรื่อยๆ สมองจะหลั่งโดพามีนออกมา เกิดความรู้สึกดี แล้วจะอยู่ในวังวนทำให้เราวางมันลงได้ยาก
เลยแนะนำทางแก้คือให้เปลี่ยนสีหน้าจอมือถือเป็นสีขาวดำเสีย จะได้เกิดความน่าสนใจน้อยลงเมื่อหยิบมือถือขึ้นมาดู พอเห็นหน้าจอมือถือเป็นสีขาวดำ ไม่มีชีวิตชีวา และน่าเบื่อ เราก็จะอยากเช็คมือถือน้อยลงตามไปด้วย.. ฟังดูแปลกดี แต่ผมลองเปลี่ยนไปใช้ขาวดำแล้วก็รู้สึกแบบนั้นจริงๆ อย่างปลดล็อกเครื่องแล้วไม่เห็นสีแดงแจ้งเตือน หรือเวลาเข้าไป instagram เห็นรูปไม่มีสี ก็รู้สึกไม่ค่อยอยากใช้มือถือมาก ไว้ค่อยเปิดคอมแล้วดูทีเดียว
สำหรับคนที่อยากลองปรับหน้าจอเป็นขาวดำดู ให้เข้าไปที่ Settings app > General > Accessibility > Display Accommodations > Color Filters แล้วเปิดใช้ Grayscale สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่ How to Make Your iPhone Black and White (And Why You Should)
แล้วคุณล่ะ ใช้มือถือในแต่ละวันมากแค่ไหน
iOS เวอร์ชั่นใหม่ที่ออกมาช่วงประมาณก่อนปลายปีที่แล้ว จะเพิ่มฟังก์ชั่นที่ชื่อว่า Screen Time ติดตั้งเข้ามาให้ในมือถือเราเลยครับ และผมคิดว่าฟังก์ชั่นนี้ดีมากๆ เพราะมันช่วยบอกเราได้ว่าในหนึ่งวันเราใช้มือถือไปกับเรื่องอะไรบ้าง ใช้เวลากี่ชั่วโมง และใช้ช่วงไหนบ่อยเป็นพิเศษ พร้อมสรุปเป็นสถิติเป็นกราฟให้ 7 วันย้อนหลัง
บางทีผมมานั่งเปิดสถิติดู แล้วก็คิดว่าถ้าใช้มือถือกับเรื่องไม่เป็นเรื่องน้อยลงได้มากกว่านี้ หรือยกเลิก notification ที่ไม่ค่อยมีความสำคัญออกไปได้มากเท่าไหร่ ผมน่าได้เวลาคืนไปทำเรื่องอื่นที่ควรจะทำมากขึ้นในอนาคต
แล้วของคุณผู้อ่านล่ะครับ ใช้มือถือไปกับเรื่องไหนบ่อยที่สุดกันบ้าง ใช่เรื่องที่อยากจะทำ หรือเป็นเรื่องที่คาดหวังว่าจะทำจริงๆ หรือเปล่า
รูปภาพประกอบบทความจาก wearesocial.com