Google Wifi – mesh network นี่ดีจริงหรือยังไง?

ใช้ Google Wifi ด้วยความคาดหวังใหม่

คงเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อคุณซื้อของอะไรมาสักชิ้นแล้วคาดหวังว่ามันจะดีขึ้นกว่าของเดิมที่เคยมีอยู่ (อ่าว แล้วไม่งั้นจะซื้อมาทำไม?) ที่บ้านผมใช้ Apple Airport Extreme มาค่อนข้างนานแล้วครับ น่าจะประมาณ 3 ปีครึ่ง ซึ่งมันก็ทำงานได้ดีตั้งแต่วันแรก จนถึงวันที่ตั้งใจจะเปลี่ยนก็ยังทำงานได้ดีไม่มีปัญหา แต่ด้วยความที่บ้านอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร กำแพงค่อนข้างหนา จึงทำให้สัญญาณไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควรจะเป็นตาม technical spec ที่อยู่ในหน้าเว็บไซต์ของ Apple

สถานการณ์ปัจจุบันเป็นแบบนี้ครับ บ้าน 2 ชั้น กำแพงหนา สัญญาณ wifi เดิมไม่สามารถทะลุทะลวงออกไปได้ไกลมากนักจากที่ควรจะเป็น ถึงแม้ว่าตัว Apple Airport Extreme เองจะใช้มาตรฐาน 802.11ac ที่สามารถส่งสัญญาณได้ดี แล้วก็ปล่อยออกมา 2 คลื่นความถี่คือ 2.4Ghz และ 5Ghz แต่จากตัวอุปกรณ์ที่วางไว้ด้านบนบ้านชั้น 2 กลับส่งสัญญาณลงไปที่ชั้นล่างได้ไม่ดีเท่าไหร่ เมื่อทดสอบความเร็วจากมือถือในมุมแต่ละมุมของบ้านก็แกว่งได้สัญญาณไม่คงที่ ทดสอบความเร็วในห้องที่เป็นจุดตั้งสัญญาณได้ 100/40 แต่ชั้นล่างกลับเหลือประมาณ 10~20 ทำนองนั้น ซึ่งมันหายไปหลายเท่าเลยทีเดียว

ไม่ว่าจะมีช่างมากี่รอบก็จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าบ้านคุณลูกค้ากำแพงหนา แนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ powerline บ้าง ใช้ extender บ้าง ซึ่งตอนหลังผมก็หันมาเพิ่ม extender ขึ้นอีกตัวนึงที่ชั้นล่าง เพื่อต่อสาย LAN เข้ากับ Playbox ของ AIS เพื่อดูทีวี ก็ยังไม่ประทับใจเท่าไหร่ ความเร็วได้ขึ้นมาประมาณ 30/5 แต่สัญญาณกลับไม่นิ่ง และไม่คงที่ ซึ่งทำให้การดูทีวีนานๆ แบบไม่สะดุดนั้นค่อนข้างเป็นไปได้ยาก

Google Wifi - Overview

จึงทำการหาข้อมูลเกี่ยวกับ Google Wifi เพิ่ม ซึ่งในหน้าเว็บไซต์ของ Google เอง บอกว่าใช้เทคโนโลยี mech network ซึ่งเหมือนกับการเชื่อมต่อกันเป็น node ระหว่างตัว access point ทำให้สามารถกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้เสถียร และได้ระยะกว้างกว่าการส่งสัญญาณแบบเสา MIMO ทั่วไปที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (รวมถึง Apple Airport Extreme ด้วย) ต้องบอกว่าผมเองก็ไม่เคยได้ยิน mech network มาก่อนเหมือนกัน จึงให้ความสนใจอยู่พอสมควร พอได้อ่านทำความเข้าใจก็เห็นว่าน่าสนใจลองซื้อมาใช้ ดีกว่าจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน

Google_Wifi.max-1000x1000

เลยทำการสั่งซื้อผ่านร้านในไทยเจ้านึงในแบบ 3units ราคาประมาณ 12,000 บาท

อุปกรณ์ในกล่องของ Google Wifi

google-wifi-thailand

google-wifi-box

ต้องบอกว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ของ Google Wifi แบบ 3 ชิ้นนี้ทำได้ดีครับ ส่วนตัวชอบเพราะดูเรียบง่าย ใช้พื้นที่ของกล่องได้รู้สึกว่ามันไม่อึดอัดจนเกินไป แล้วก็ดูเรียบหรูในแบบที่ควรจะเป็น ในกล่องจะมีตัว access point 3 ชิ้น พร้อมกับสาย power AC ให้มาเท่ากัน แล้วก็มีสาย LAN แถมมาให้อันนึง

Google Wifi บอกว่า สัญญาณอินเตอร์เน็ตนั้นเราเลือกเอง แต่ตัวกระจายสัญญาณนั้นตัวอุปกรณ์ของ Google จะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ ซึ่งแน่นอนว่ามันสามารถเข้ากันได้กับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในบ้านเราแทบทุกเจ้า ยกตัวอย่างของผมใช้ AIS fibre อยู่ ก็ทำการต่อ Google Wifi ตัวนึงเสียบสาย LAN เข้ากับตัวกล่องรับสัญญาณ Fibre ของ AIS แล้วจากนั้นก็ตั้งค่าผ่าน app ได้เลย

google-wifi-unbox-2

google-wifi-unbox

ตั้งค่าอุปกรณ์ และเครือข่ายของ Google Wifi

ที่ประทับใจนอกจากกล่องผลิตภัณฑ์แล้ว คือการตั้งค่า หรือซอฟแวร์ที่ใช้ควบคุมนี่แหละครับ รู้สึกได้เลยว่าการตั้งค่า access point หรือ router หรือตัวกระจายสัญญาณ (แล้วแต่จะเรียก) ไม่เคยง่ายเท่านี้มาก่อน ถึงแม้ว่าอ่าน tecnical spec แล้วจะรู้สึกเหมือนซับซ้อนก็ตาม เพียงโหลดแอพฯ ที่ชื่อว่า “Google Wifi” ติดตั้งในมือถือของเราให้เรียบร้อย จากนั้นหันด้านล่างของอุปกรณ์ตัวที่ต้องการจะตั้งค่าขึ้นมา scan QR code แล้วรอแป๊บนึงก็ตั้งค่าให้เอง เสร็จแล้วเราจะเห็นว่ามีอุปกรณ์เพิ่มเข้ามาในหน้าจอแอพฯ

google-wifi

google-wifi-underneath

google-wifi-and-apple-wifi

การปล่อยสัญญาณจาก 1 อุปกรณ์ ผมว่าได้ระยะพอๆ กับตัว Apple Airport Extreme คือที่ชั้นบนของบ้าน ได้สัญญาณนิ่ง เน็จมาแรงเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าไปทดสอบที่ชั้นล่างจะเหลือประมาณ 20~30 พอเห็นแบบนี้เราก็เลือกตำแหน่งที่จะวาง node ตัวที่สองที่ทำการปล่อยสัญญาณได้เลยว่าจะเอาไว้ตรงไหน ข้อแนะนำในเว็บไซต์คือต้องวางตัว node ให้ยังอยู่ในระยะของเครือข่ายที่ตัวแรกสามารถปล่อยถึง การตั้งค่าตัวที่สองก็ทำได้โดยวิธีเดียวกันครับ หยิบแอพฯ ขึ้นมา scan QR code ที่ด้านล่างของอุปกรณ์ตัวที่สอง จากนั้นพอขึ้นมาอยู่ในหน้าแอพฯ ของเราแล้ว ทีนี้ให้เลือกการตั้งค่าเป็น mech ซึ่งเหมือนบอกให้ทำหน้าที่เป็น node ลูกในการเชื่อม และกระจายสัญญาณนั่นเอง

 

google-wifi-application

ส่วนตัวแล้วเราสามารถควบคุมการทำงาน หรือตั้งค่าผ่านแอพฯ ได้แทบทุกอย่างทั้งการทดสอบอินเตอร์เน็ต, การเชื่อมต่อกันเองของ node, เรียกดูว่าใครบ้าง หรือ devise ไหนบ้างที่เชื่อมต่อ wifi ของเราอยู่, เก็บ stats ให้เราเลือกดูในภายหลังได้ว่าใช้เน็ตมากน้อยแค่ไหน, ตั้งค่า guest network ผ่านแอพฯ กรณีที่มีแขกมาที่บ้านแล้วต้องการใช้ wifi ซึ่งแยกต่างหากจาก wifi หลัก หรือตั้งเวลาการใช้งานสำหรับบ้านที่เป็นครอบครัวใหญ่ที่ต้องการควบคุมเวลาการใช้เน็ตของเด็กๆ ทั้งหมดทำได้ผ่านแอพฯ หมดเลย

ข้อดีที่เห็นว่าต่างจาก Apple Airport Extreme นอกเหนือจากการตั้งค่าที่ง่ายแสนง่ายแล้ว เห็นจะเป็นในเรื่องของ channel ในการเชื่อมต่อ ซึ่งตัว Google Wifi นี้ก็ปล่อยออกมา 2 ความถี่เหมือนกัน แต่จะรวมอยู่ใต้ชื่อเครือข่ายเดียว พออุปกรณ์ไหนที่ต่ออินเตอร์เน็ต มันก็จะเชื่อมต่อความถี่ที่ได้สัญญาณแรงที่สุดให้ หรืออุปกรณ์ใดที่ไม่สนับสนุนความถี่ 5Ghz มันก็จะทำการเชื่อมอีกความถี่นึงให้อัตโนมัติ ซึ่งมันฉลาดอย่างที่มันควรจะเป็นจริงๆ

สรุป เรื่องของประสิทธิภาพ

หลังจากตั้งค่า mech network ที่ชั้นสองของบ้านเรียบร้อย แล้วเริ่มทำการทดสอบระยะครอบคลุมก็พบว่าสัญญาณขยายออกไปอีกค่อนข้างไกลถึงไกลมาก เรียกได้ว่าเดินผ่านข้างบ้านไปหลังนึง มือถือยังจับสัญญาณได้ ส่วนความเร็วอินเตอร์เน็ตที่ชั้นล่างก็ทำได้ดีไม่แพ้ชั้นบน คือได้ความเร็วที่ประมาณ 80/30 แต่คุณภาพสัญญาณนิ่งมากเหมือนชั้นบนเลย ทำให้ต่อสาย LAN ดูทีวีจากอินเตอร์เน็ตที่กล่อง AIS playbox ทำได้ดีไม่มีสะดุด หรือจะดูหนังจาก Netflix แบบ Full-HD ก็สบายๆ ไม่ต้องดูไปกระตุกโหลดไปอีกแล้ว

ถือว่าคุ้มค่าครับ ตัวที่ 3 นั้นไม่ต้องใช้ แค่ 2 ตัวก็ครอบคลุมบ้านทั้งหลังได้สบายแล้วล่ะ

google wifi speedtest

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ