ผมลงงานวิ่งครั้งแรกคือวันเกิดตัวเองปี 2017 งานแรกที่วิ่งเป็นงาน Run for the blind 4 วิ่งระยะมินิมาราธอน หรือ 10 กิโลตามที่คนทั่วไปเข้าใจกัน โดยก่อนหน้านั้นก็ซ้อมวิ่งอยู่เรื่อยๆ วันเว้นวันสลับสองวันบ้างระยะที่ซ้อมก็ราวๆ 5 – 10 กิโลมากขึ้นตามลำดับ รวมๆ แล้วก็ซ้อมประมาณ 3-4 เดือนก่อนมาลงงานวิ่งจริงจัง จนถึงตอนนี้ก็เริ่มลงงานวิ่งมาเรื่อยๆ อาทิตย์ละงาน หรือสองอาทิตย์งาน ผ่านมาประมาณ 4 เดือนก็รวมๆ แล้ว 10 งานเห็นจะได้
ทำไมต้องวิ่ง
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคนส่วนใหญ่วิ่งด้วยเหตุผลหลักๆ 2 ข้อคือ หนึ่งต้องการลดความอ้วน และสองต้องการให้ร่างกายแข็งแรง หรือเน้นเพื่อสุขภาพ แต่ถ้าให้เปรียบเทียบสัดส่วนแล้วผมว่า 80% ของคนที่เริ่มวิ่งคือต้องการลดน้ำหนักนั่นแหละ
แต่ผมไม่ได้ต้องการวิ่งเพื่อลดน้ำหนักนิ.. แล้วจะวิ่งไปทำไม?
ผมคิดว่าคำตอบของมันก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก ถ้าไม่ได้วิ่งเพราะลดน้ำหนัก ก็วิ่งเพื่อสุขภาพ เวลาเล่นบอล หรือช่วงที่ต้องออกกำลัง และการเคลื่อนไหวอย่างหนักเป็นเวลานานติดต่อกันชั่วโมงสองชั่วโมง ร่างกายจะเกิดการล้า เหมือนกับช่วงแรกที่ยังไม่เหนื่อยก็วิ่งได้เรื่อยๆ แต่พอผ่านไปเกือบชั่วโมงก็เหนื่อยไล่ตามคนที่ฟิตกว่าไม่ทัน แน่นอนว่ากีฬาบางประเภทมันก็เกี่ยวกับการยืนระยะ ร่างกายใครพร้อมกว่าก็ได้เปรียบกว่า บางทีก็รู้สึกเบื่อร่างกายตัวเองที่ไม่ได้ฟิตขนาดนั้น ตามใครเขาไม่ทัน บางทีคนแก่กว่าบางคนยังเล่น ยังยืนระยะได้ดีกว่าเราที่อายุน้อยกว่าหลายปีด้วยซ้ำ
แต่อีกเหตุผลนึงก็คงเป็นเพราะเพื่อนสนิทที่ทำอาชีพเทรนเนอร์ฟิตเนสเล่าให้ฟังเวลาเขาไปเทรนลูกค้าตามบ้าน ซึ่งลูกค้าพวกนี้ก็เป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้วเป็นส่วนมาก ได้ความว่าเวลากลุ่มคนแบบนี้ประสบความสำเร็จมีเงินมีทองมีเวลา สิ่งหนึ่งที่อาจจะทำให้กังวลได้คือเรื่องของสุขภาพ บางทีเงินทอง และเวลาก็ซื้อมันคืนกลับมาไม่ได้ บางคนอายุมาก แต่ก็เพิ่งมาเห็นความสำคัญในตอนหลัง มันก็เหมือนเรื่องย้ำเตือนถึงตอนที่เรายังอายุน้อยๆ กลับเอาแต่ขี้เกียจปล่อยเนื้อปล่อยตัว ปล่อยปละละเลยไม่เห็นความสำคัญของมันมากนัก
ในเมื่อทุกคนวิ่งตามความฝัน พอได้ความฝันนั้นแล้ว ก็อยากที่จะอยู่กับมันให้ได้นานๆ
เลยเริ่มซ้อมวิ่ง ลงงานวิ่งไปเรื่อยๆ บางทีงานก็เยอะ แต่ก็พยายามหาเวลาวิ่งให้ได้อย่างน้อยๆ ครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อยต่อครั้ง จนมาพักหลังๆ เริ่มคิดว่าการวิ่งเนี่ยมันไม่ได้ช่วยในเรื่องของร่างกายเพียงอย่างเดียวแล้ว มันเหมือนกับการรักษาวินัย การฝึกความรับผิดชอบ การตั้งเป้าหมายแล้วทำ ซึ่งผมเองก็มองว่ามันช่วยในเรื่องของ mindset การทำงานได้ด้วย(ซึ่งผมอาจจะคิดไปเองก็ได้)
ตอนแรกก่อนมาเริ่มวิ่ง ผมไม่เคยคิดหรอกครับว่าในชีวิตนี้ตัวเองจะวิ่งมาราธอนระยะ 42 กิโลเมตรให้จบภายใน 6 ชั่วโมงได้ เอาง่ายๆ ว่าระยะฮาล์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตรใน 3 ชั่วโมงเนี่ยยังว่ายากเลย แล้วก็ไม่รู้จะเอาเหตุผลอะไรที่ต้องแบกตัวเองไปวิ่งด้วยซ้ำ
แต่พอเริ่มวิ่ง ความคิดมันก็เริ่มเปลี่ยนไป พอวิ่ง 10 กิโลได้สักพัก มันก็เริ่มมีความคิดขึ้นมาว่า เอาวะ 21 กิโลก็น่าจะทำได้นิ ซ้อมมากขึ้นกว่าเดิมหน่อย หาข้อมูลการวิ่งที่ถูกต้อง วิ่งทางไกลยังไงให้บาดเจ็บน้อย โภชนาการแบบไหนที่ควรจะกินก่อนวิ่ง กินหลังวิ่ง เกลือแร่ เครื่องดื่มมันมีผลต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงเรื่องการฝึกระบบหายใจ ที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาให้ความสนใจกับมันเลย
พอหาข้อมูลไปเรื่อยๆ ก็เริ่มสนุก เริ่มอิน เริ่มอยากออกไปวิ่ง ไม่ได้คิดว่าการวิ่งคือการที่เราต้องตั้งวันในปฏิทินว่า “เห้ย ได้เวลาออกไปซ้อมวิ่งแล้วนะ” มันช่วยทำให้ผมหลุดจากบ่วงงานที่แทบจะถือมันอยู่ตลอดเวลาได้ อย่างน้อยชั่วโมงนึงที่ไปวิ่ง เราก็เหมือนได้เวลาพักจากเรื่องงานสักครู่นึง เลิกคิดถึงมัน พอวิ่งเสร็จทำอะไรเรียบร้อยก็กลับไปทำใหม่ จนเริ่มรู้สึกว่าการทำแบบนี้ทำให้งานเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น สมองไม่เหนื่อยไม่ล้า กลางคืนนอนหลับง่าย แล้วก็มีเรื่องเครียดน้อยลงด้วย
แต่การวิ่งจริง กับสิ่งที่คิดนั้นมันไม่ได้เหมือนกันไง
ช่วงที่ผมลงวิ่ง 21 กิโลงานแรกเนี่ยจำได้เลยว่าก่อนวันงานสองวันยังไปนั่งดื่มกลับดึกได้นอนน้อยอยู่เลย แต่ด้วยความคิดที่ว่าวิ่ง 10 โลมันก็เหนื่อยแต่ไม่มากเพราะร่างกายมันชินแล้ว ถ้าไปวิ่งระยะมากขึ้นมันคงไม่ได้เหนื่อยมากขึ้นหรอก แต่มันน่าจะเหนื่อยนานขึ้นเท่านั้น จริงๆการไปลงงานวิ่งบ่อยๆ มันก็จะสอนเราทีละนิดว่าก่อนวิ่งจริงเนี่ยควรทำอะไรบ้าง ไม่ควรทำอะไรบ้าง เตรียมไรไปดี หรือไม่ควรเอาอะไรไปด้วยดี และงานล่าสุดก็ได้สอนผมอีกอย่างนึงว่า
งานแม่งจะเริ่มเวลาเช้ามืดแค่ไหนก็ตามแต่ ควรจะนอนไปสักหน่อย ไม่ใช่งานเริ่มตี 3 กะเวลานอนไม่ถูก ก็ไม่ต้องนอนมัน หรือสิ่งที่คิดตอนแรกว่ามันไม่ได้เหนื่อยมากขึ้นแต่เหนื่อยนานขึ้นเนี่ยก็ไม่ใช่ บางทีเราก็ลืมไปว่าร่างกายมันเวลาใช้งานนานๆ มันก็จะเกิดอาการล้า นอนไม่พอก็เรื่องนึง อาการบาดเจ็บก็เรื่องนึง การเตรียมอุปกรณ์ที่มากเกินไปก็เรื่องนึง หรือการตื่นเต้นตื่นสนามมันก็มีผลอีกเรื่องนึง
แล้วมันเหมือนจะเกี่ยวกับงานในเวลาเดียวกัน
เวลาที่คุณทำงานฟรีแลนซ์ไม่ได้ทำตามเวลาที่พนักงานทั่วไปเขาทำกัน หรือต้องเข้าไปนั่งที่บริษัทกับโต๊ะทำงานตัวเดิมก็ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีใช่ไหมครับ? แน่นอนเวลาที่ใครถามผมว่าทำงานอะไร ผมก็มักจะตอบว่า “อ๋อ ผมทำฟรีแลนซ์” ก็มักจะได้ยินเสมอๆ ประมาณว่า ดีจัง ทำงานที่ไหนก็ได้ ทำงานเมื่อไหร่ก็ได้
มันก็จริงแหละครับ ฟรีแลนซ์มันก็มีสองแบบคือประเภทที่มีงานตลอด กับประเภทที่ไม่มีงานเลย หรือนานๆ จะมีที
ผมเริ่มทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้า – 5 โมงเย็นทุกวัน เพื่อซัพพอร์ตลูกค้าที่เป็นบริษัท แน่นอนว่าหลังจากเวลาพวกนี้จะติดต่อกัน หรือขอข้อมูลอะไรมันก็ยากเพราะคนส่วนใหญ่เลิกงานปุ๊บก็ไม่อยากอะไรละ เก็บไว้พรุ่งนี้เวลางานใหม่ พอหลังจากเวลาพนักงานบริษัทแล้วก็มานั่งทำงานต่อถึงเที่ยงคืนบ้าง ตีหนึ่งบ้าง วนลูปอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าบางทีเราหวงเวลามาก ไม่อยากเสียมันให้กับเรื่องไร้สาระ เพราะแทนที่จะทำแบบนั้น เอาเวลามานั่งปั่นงานให้มันเสร็จรับเงินจะดีกว่าไหม นั่งรอรถติดอยู่ในรถชั่วโมงสองชั่วโมงเขียนโค้ดได้กี่บรรทัด แล้วโค้ดพวกนั้นเปลี่ยนเป็นเงินได้กี่บาท จนบางทีเราก็กลัวตัวเองเหมือนกันว่ามันจะเป็นผลเสียในระยะยาวหรือเปล่า
แต่พอได้มาวิ่ง เดี๋ยวนี้ 5 โมงปุ๊บเลิกงานตามพนักงานบริษัทแล้วครับ ไปวิ่งอยู่สวน บางทีสองทุ่มสามทุ่มก็นั่งใช้เวลาดื่มเบาๆ เป็นของตัวเองบ้าง ไม่ได้บ้าแบกงาน หรือคิดเสียได้เวลาเหมือนเมื่อก่อน ก็ชีวิตมันเป็นของส่วนตัว แล้วมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ มันเหมือนสอนให้เรารู้ว่า เออกูรู้แล้วว่ามึงมีงาน X กอง มึงจะนั่งทำงานติดต่อกันไปเรื่อยๆ เพื่อให้งาน X กองหมดเร็วที่สุดมันไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรนะ มึงควรแบ่งเลยว่าวันนี้ทำเท่าไหร่ พอทำครบแล้วก็ถือว่าครบหมดงานของวันนั้น ไปใช้เวลาส่วนตัวได้ แล้วถ้าว่างอยากจะนั่งทำเพิ่มอีกหน่อยก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ แต่งานของวันนี้มึงคือเสร็จแล้ว
มันก็เหมือนกับการซ้อมวิ่งนั่นแหละครับ ถ้ารู้ว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าลงงาน 21 กิโล จะแบ่งวันซ้อมในปฏิทินยังไง วันนี้จะวิ่งเท่าไหร่ เก็บไปเรื่อยๆ ได้ประสิทธิภาพแล้วก็ไม่เหนื่อยไม่ล้าจนเกินไป อย่างน้อยสมองมันก็อยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเอาแต่จะซ้อมๆ จะทำๆ พูดพร่ำกับตัวเองอยู่นั่นว่าไม่อยากจะเสียเวลาอย่างนั้นอย่างนี้
มันน่าจะดีกว่าใช่ไหมครับ?