อะไรคือความแตกต่างระหว่างเว็บราคาถูกและแพง?

ทำไมราคาของฟรีแลนซ์แต่ละที่มันโดดเสียเหลือเกิน

เนื่องจากเป็นคนที่ทำฟรีแลนซ์ทางด้านเว็บไซต์อยู่แล้ว วันก่อนเพื่อนเลยส่งลิงค์นี้มาให้ดูครับ เฮ้ย! ทำเว็บ ถูกกว่ากิน MK? ส่วนตัวผมเองเห็นบทความ หรือกระทู้เรื่องการตั้งราคาการทำเว็บไซต์สักเว็บนึงมาหลายที่แล้วเหมือนกัน ทั้งในพันทิปก็ดี หรือจะเป็นบล็อกส่วนตัวจากเพื่อนนักพัฒนาด้วยกันก็ดี ซึ่งผมเองก็แทบจะเห็นด้วยทั้งหมดกับทุกคนที่เขียน ว่าราคาที่ตัดกันทล่มทลายแบบนั้นมันเป็นผลเสียระยะยาวกับอาชีพของเราเองทั้งนั้น

แต่ด้วยความที่ว่าบทความแต่ละที่ที่ถูกเขียนขึ้นมานั้นมันออกแนว tech จ๋าไปหน่อย ก็เลยนึกอยาจะเขียนที่มันเป็นภาษาบ้านๆ สำหรับคนที่ไม่ใช่นักพัฒนา หรือโปรแกรมเมอร์มาอ่านแล้วก็พอเข้าใจว่าไอ้ที่เราเขียนถึงกันเนี่ยมันเกือบจะ critical แล้วนะโว้ย แต่เราใช้ศัพท์คอมกันจนคนอื่นคิดว่าเราบ่นกันไปตามประสีประสาไม่ได้มีอะไรมากมาย

ทีนี้ย้อนกลับมาที่ประเด็นหลักเลยครับ อะไรคือเป็นปัจจัยทำให้ราคามันห่างกันขนาดนั้น

ผมขอยืมภาพมาจากบล็อกของคุณ Code Upon A Time บน medium นะครับ
ผมขอยืมภาพมาจากบล็อกของคุณ Code Upon A Time บน medium นะครับ

ที่จริงผมไม่ชอบเลยนะคำว่า “ฟรีแลนซ์ที่แข่งขันราคาถูกกันอยู่” มันเหมือนกับการตัดราคาลงไปเรื่อยๆ เหมือนขายของตามตลาดสด หรือช่วงที่ตลาดใกล้จะวายแล้วแม่ค้าพ่อค้าไม่อยากแบกของกลับบ้าน อยากจะขายให้แม่งหมดๆ อีกอย่างคืองานที่เราทำมันเป็นงานฝีมือ ไม่ใช่งานทำซ้ำอย่างที่จ้างใครก็ไม่รู้มาทำก็ได้ แล้วทำไมยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่กล้าเสนอราคาแบบนั้นออกไปล่ะ? งั้นเราย้อนกลับไปดูที่คำถามเรื่องค่าจ้างกันสักหน่อย

เกณฑ์การตั้งราคามาจากอะไร?

ส่วนใหญ่แล้วปัจจัยที่มีผลมีหลักๆ อยู่สามอย่างที่ผมนึกออกคือ

  • Scope งานเป็นยังไง ใหญ่แค่ไหน ต้องทำอะไรบ้าง
  • Time ลูกค้ามีเวลาให้เท่าไหร่ เร่งแค่ไหน
  • Skill ความสามารถของผู้ให้บริการ

ส่วนปัจจัยอื่นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนซึ่งก็อาจจะมีเรื่อง connection ของลูกค้า โอกาสที่จะได้งานต่อ หรืองานนั้นเป็นงานของคนรู้จัก ฯลฯ ซึ่งมันอิงความรู้สึกส่วนตัวในการตั้งราคามากเกินไป ขอไม่พูดถึงแล้วกันครับ แต่สิ่งที่ฟรีแลนซ์อาชีพส่วนใหญ่อยากจะรู้จากลูกค้าก็มีแค่ scope กับ timeline ซึ่งเมื่อรู้แล้วก็จะเสนอราคากลับไป ถ้าลูกค้าโอเคก็คุยรายละเอียดพร้อมไปสู่กระบวนการอื่นๆ อย่าง ออกใบเสนอราคา เขียนสัญญา ใบแจ้งหนี้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และวิธีการของผู้ให้บริการแต่ละเจ้า

แต่ส่วนตัวผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่า 250 บาทเนี่ยมันคุ้มกับการเขียนสัญญา หรือออกใบเสนอราคาหรือเปล่านะครับ..

ถ้าสิ่งที่แพงไม่ใช่ตัวซอฟแวร์เสมอไป?

freelance_article2

ลูกค้าจ้างเขียนซอฟแวร์มันก็ต้องแพงที่สุดที่ตัวของซอฟแวร์สิจะไปแพงอย่างอื่นได้ยังไง อันนี้ผมว่าบางทีก็ไม่จริงเสมอไปครับ มีฟรีแลนซ์จำนวนไม่น้อยที่งานชุมจนแทบจะไม่ต้องวิ่งออกไปหาลูกค้า ส่วนใหญ่ก็จะได้งานจากคนนั้นคนนี้ ลูกค้าแนะนำกันปากต่อปาก จนแทบจะไม่มีเวลาทำอะไรเป็นของตัวเอง กลุ่มนี้ยังมีตัวตนอยู่ในโลกจริงๆ นะครับ บางทีตอนตีราคาอาจจะไม่ได้เน้นหนักราคาที่ตัวซอฟแวร์จริงๆ ก็ได้ แต่อาจจะคิดเผื่อถึงช่วงที่ต้องบำรุงรักษา(maintain) บางงานอาจจะมีปัญหาจุกจิกที่ไม่ได้เกิดจากตัวซอฟแวร์อย่างการ support, การ training หรือ requirement ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาอีก พวกนี้ล้วนเป็นปัจจัยส่งผลต่อถึงเรื่องราคาทั้งสิ้น

ส่วนใหญ่คนที่งานเข้าตลอดจะไม่ชอบให้ลูกค้าบอก, จอง หรือสัญญาว่าจะทำแบบปากเปล่ากันทั้งนั้นครับ ลองคิดสภาพตอนที่มีลูกค้าสักคนเข้ามาถามว่า

  • “ช่วงนี้ว่างมั้ย อยากได้ abc”
  • อ๋อยังไม่ว่าง “งั้นคิวงานว่างเมื่อไหร่”
  • “โอเค พี่จองไว้เลยนะ เดี๋ยวปลายเดือนหน้าว่ากัน”

ถ้าเดือนหน้ามาตามนัด คุยกันเรียบร้อยจ่ายเงินเริ่มงานก็โอเคครับ แต่ส่วนใหญ่มักจะมาแล้วหายเข้ากลีบเมฆไปหลายเดือน แล้วจู่ๆ ก็กลับมาบอกว่า “โอเคแล้วใช่ปะ พี่ว่าจะเริ่มพรุ่งนี้เลย” มีหลายครั้งที่ผมต้องปฏิเสธพร้อมโดนว่ากลับมาเหมือนกัน การ buffer งานให้ลูกค้าสักเจ้าเป็นเรื่องที่เสี่ยงสำหรับฟรีแลนซ์อยู่แล้ว ถ้ารับปากแล้วทำก็ดีไป แต่ถ้าไม่ก็เหมือนกับเราปฏิเสธลูกค้าคนอื่น แล้วก็จะทำให้เสียโอกาสได้ เพราะฉะนั้นมีปัจจัยหลายอย่างมากครับที่ผันผวนอยู่กับการตั้งราคาในแต่ละโปรเจค

อีกอย่างคือเรื่องของการดูแลต่อหลังส่งมอบ ซึ่งระยะเวลาในการ maintain หลังจากส่งงาน จะขึ้นอยู่กับขนาดของโปรเจค และการตัดสินใจของผู้ให้บริการเอง ส่วนมากจะเริ่มตั้งแต่ 1 เดือน(อันนี้ไม่ค่อยเห็น), 3 เดือน, 6 เดือน และ 1 ปีหรือมากกว่านั้น ถ้าครบรอบแล้วลูกค้าสามารถซื้อ maintain ต่อได้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่คิดราคากันจะอยู่ที่ 10% ของราคาโปรเจคต่อหนึ่งปี

เพราะฉะนั้นแล้วตัวซอฟแวร์ที่เขียนจริงๆ อาจจะไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาพุ่งขึ้นสูงก็เป็นไปได้ครับ

ทำตาม requirement

jir4yu_freelance_article

สำหรับฟรีแลนซ์แล้ว เอกสารสัญญา เป็นอะไรที่ขาดไม่ได้ครับ ซึ่งในเอกสารสัญญานี้เองจะเป็นเหมือนเครื่องยืนยันในสิ่งที่เราทั้งสองฝ่าย(ทั้งผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้าง) รับรู้เข้าใจ scope ของงาน และเวลาที่ใช้ตรงกันแล้ว ซึ่งจะช่วยลดปัญหาต่างๆ ได้มากมายอย่าง requirement เกิน, เวลาที่ใช้ ใครผิดใครถูกเวลาเกิดเหตุการณ์แบบไหนขึ้น และทั้งหมดก็เพื่อความสบายใจทั้งสองฝ่าย

ปัญหาเรื่องลูกค้าเปลี่ยน requirement ในช่วงเวลาที่ทำโปรเจคอยู่นั้นเกิดขึ้นบ่อยมาก การเปลี่ยนแปลง requirement หรือต้องการเพิ่ม feature ต่างๆ ให้ระบบก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเหมือนกัน แต่จะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลง, เวลาที่ใช้ และดุลพินิจของผู้รับจ้างด้วย ส่วนใหญ่แล้วฟรีแลนซ์ที่มีประสบการณ์รับงานมายาวนานจะเขียนข้อนึงในเอกสารสัญญาเชิงทำนองว่า

ขอบเขตของการเพิ่มเติมที่ผู้ว่าจ้างร้องขอ ผู้รับจ้างมีสิทธิ์ที่จะยอมรับ หรือปฏิเสธงานนั้นได้ ขึ้นอยู่กับการตกลง และความเป็นไปได้ของงานนั้นๆ

ลองคิดถึงตอนที่กำลังทำงานโปรเจคนั้นอยู่แล้วลูกค้ามาบอกว่าอยากจะเพิ่มอันนั้น แบบนี้ขอเวลาไม่เกินสิ้นเดือน หรือ …วันได้ไหม ถ้าการเพิ่มเติมนั้นมันไม่ได้เยอะมาก หรือใช้เวลาไม่นานแล้วยังอยู่ใน timeline ของงานอยู่ก็โอเค แต่บางอย่างที่เพิ่มเข้ามาอาจจะใหญ่โตมโหฬารซึ่งอาจจะใช้เวลามากมีสิทธิ์ที่จะกินเวลาโปรเจคของลูกค้าคนอื่นที่ต่อคิวอยู่ได้แบบนี้ก็เสี่ยงเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่กว่า 70% ผมบอกได้เลยว่างานจะต้องมีเพิ่มลดจากตอนที่คุยกันตอนแรกแน่ๆ บางทีตอนที่ตกลงทำสัญญากันลูกค้าอาจจะยังไม่เห็นภาพรวม พอทำไปสักพักเริ่มเห็นภาพก็มีไอเดียอยากจะหยิบนั่นมาชนนี่ ซึ่งข้อตกลงพวกนี้ถ้าเป็นลายลักอักษรก็จะช่วยให้สบายใจกันทั้งสองฝ่าย

แต่ผู้ให้บริการก็ต้องแยกให้ออกนะครับว่าอันไหนคือ bugfix(แก้ข้อผิดพลาดของซอฟแวร์) และ requirement เพราะผมเคยได้ยินลูกค้าคนนึงเล่าให้ฟังประมาณว่า เขาจ้างทำระบบ แล้วเวลาเกิดปัญหาที่ตัวซอฟแวร์บางจุด ต้องการให้ผู้ให้บริการแก้ไข กลับโดนชาร์ตเงินเพิ่มสำหรับการแก้ไขเสียอย่างนั้น

bugfix ควรจะฟรี – requirement/feature ควรจะคิดเงิน

ทักษะของผู้พัฒนาก็มีส่วนในเรื่องราคา

ลองเปรียบเทียบดูว่าถ้าคุณเอารถเข้าไปซ่อม หรือทำอะไรเพิ่มที่อู่ ซึ่งแน่นอนว่าช่างแต่ละคนมีวิธีแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ต้องทำให้งานออกมาได้ตรงตามที่ลูกค้าต้องการเหมือนกันอยู่ดี สิ่งนี้ก็เหมือนกับผู้พัฒนาซอฟแวร์นั่นแหละครับ แต่ละคนมีวิธีการเขียนซอฟแวร์ที่แตกต่างกันไป บ้างใช้เทคนิคแบบนึง บ้างก็ไม่ใช้ บางคนทำงานมานานจนรู้ว่าอะไรควรทำยังไง ใช้ประสบการณ์ที่เคยทำมาทำให้งานเสร็จลุล่วงแล้วก็มีประสิทธิภาพแตกต่างกันไป

แต่ก็มีช่างจำนวนไม่น้อยที่ทำแบบ หน้าตาดี ห้องเครื่องแย่ อยู่เหมือนกัน

ถ้าคุณลูกค้าไม่ซีเรียสเรื่องไส้ใน ได้หน้าตาเว็บไซต์แบบที่ต้องการแล้วก็โอเค แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งต้องการเพิ่ม หรือแก้ไขงาน แล้วผู้ให้บริการคนเก่าไม่ทำให้ หรือผิดใจกัน ต้องการจะให้คนอื่นแก้ให้อันนี้จะอีกเรื่องนึง ผู้พัฒนาบางคน(รวมทั้งผู้เขียนเอง) อาจจะคิดราคางานแก้มากกว่าราคาเขียนขึ้นใหม่เลยก็ได้เหมือนกัน เหตุผลที่ทำแบบนั้นเกิดได้หลายแบบเช่น

  • เขียน หรือใช้ซอฟแวร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เพิ่ม/แก้งานลำบาก มีผลต่ออนาคต
  • ภาษา หรือซอฟแวร์ที่ใช้เขียนไม่เหมือนกัน
  • งานแก้ดูไม่คุ้มกับเวลา และค่าจ้าง

อะไรทำนองนี้ แต่ก็คงเป็นเรื่องยากสำหรับลูกค้าเหมือนกันที่จู่ๆ จะรู้ได้ยังไงว่าคนไหนฝีมือดี คนไหนที่สามารถทำงานให้ได้แบบ หน้าตาดี ห้องเครื่องเยี่ยมได้บ้าง ดูโค้ดหรือซอฟแวร์ที่เขียนก็ยุ่งยากดูไม่เป็นอีก งั้นเราลองย้อนกลับไปมองเรื่องที่มันดู makesense กว่านี้กันหน่อย

นักพัฒนาเว็บไซต์ส่วนใหญ่ที่อยู่ใน software house จริงๆ(ไม่ใช่ agency หรือ production house) ตีเป็นเลขกลมๆ เงินเดือนสำหรับ junior software engineer อยู่ที่ 20-40k และ 50k ต่อเดือนขึ้นไปสำหรับ senior ขึ้นอยู่กับความสามารถ ถ้ารับงานฟรีแลนซ์โปรเจคละ 250 บาท หรือพันสองพันบาท จะต้องรับกี่โปรเจคถึงจะคุ้มเท่ากับทำงานในบริษัททั้งเดือนกันนะ แล้วฟรีแลนซ์ก็ใช่ว่าจะสบาย ไหนจะต้องออกไปเจอลูกค้า, เขียนซอฟแวร์, support ลูกค้า ทำเอกสาร ฯลฯ ซึ่งถ้ามองกลับไปที่งานประจำนี่แทบจะไม่ต้องห่วงเรื่องจิปาถะยิบย่อยให้ปวดหัวนอกจากเขียนโค้ดเลย

แต่คือไม่ได้หมายความว่าจะต้องจ้างอะไรที่แพงๆ เสมอไปนะครับ แค่ลองช่างเหตุผลดูสักนิดว่ามันแพงเกินไปไหม หรือถูกเกินไปหรือเปล่า บางทีคนเราก็มีต้นทุนที่ใช้ทำงานไม่เท่ากัน อย่างเช่นลูกค้าผมเจ้านึงบริษัทแกค่อนข้างใหญ่ ไปขอใบเสนอราคาจากบริษัททำเว็บที่มีชื่อเสียงในตลาด โปรไฟล์ดีลูกค้ามีชื่อ สรุปได้ราคามาล้านกว่าบาท สู้ไม่ไหวให้ผมตีราคาให้เหลือประมาณสามแสนเศษ

คือต้นทุนเขาอาจจะแพงก็ได้ ค่าเงินเดือนพนักงาน ค่าออฟฟิศ ค่านั่นค่านี่ เขาอาจจะจ้าง AE มาดูแล CS มา support ลูกค้าโดยเฉพาะเลยก็ได้ แต่สำหรับฟรีแลนซ์มันสามารถลดต้นทุนพวกนี้ได้ แค่คุณทำงานตาม scope ใช้เวลาให้อยู่ใน timeline เขียนซอฟแวร์แบบ enterprise level(เหมือนที่บล็อกอื่นๆ เขียนเชิง tech กัน) ทำงานช่วยลูกค้าแค่นี้ก็พอแล้ว

การตัดราคาคือการทำลายอาชีพกันเอง

on-freelancebay
https://www.freelancebay.com/article/126

ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไปหลายครั้งแล้วเหมือนกันทั้งในบล็อกตัวเอง และที่บนเว็บไซต์ freelancebay.com ฟรีแลนซ์นั้นมักจะถูกเหมารวมจากลูกค้าครับ ถ้าทำงานไม่ดี ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าจ้างฟรีแลนซ์มันไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้งานตามที่ต้องการ ก็ต้องไปวิ่งเข้าหาบริษัทมีชื่อที่รับทำเว็บไซต์โดยเฉพาะ แล้วก็โดนชาร์ตมาก้อนเบ้อเริ่มเหมือนกับที่กล่าวไปเมื่อสักครู่ แล้วผมเองก็มานั่งคิดแล้วคิดอีกว่ามันจะเอาอะไรที่ไหนไปคุ้มกับการรับงานเริ่มต้นที่หลักร้อย แค่เอกสารสัญญา หรือใบเสนอราคาที่ทำขึ้นมายังไม่รู้จะคุ้มหรือเปล่าเลย ไหนจะต้องมีทำ design ให้ prove ไหนจะต้อง test อีก หรือว่าจริงๆ แล้วเขาไม่ได้ซีเรียสอะไรขนาดนั้น แค่ตกลงปากเปล่าแล้วทำงาน รับงาน-ส่งงานก็คือจบแค่นั้น..

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ