รับทำเว็บไซต์ รับแล้ว.. คาดหวังอะไร?
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้มีคนรับเขียนเว็บไซต์ รับทำเว็บไซต์กันมากขึ้น โดยผมเองก็ไม่แน่ใจถึงเหตุผลนั้นนักว่าทำไมผู้ให้บริการจึงมีมากขึ้นถึงขนาดนี้ บางคนอาจจะคิดว่า เขียนง่าย มีตัวอย่างในเน็ตให้ดู ให้โหลดมาใช้ หรือใช้ CMS อย่าง WordPress, Joomla! แล้วมาแก้ๆ ไม่กี่จุดก็ได้เว็บไซต์ส่งลูกค้าแล้ว.. งานแค่นี้เอง เสือนอนกินเลย
ถ้าคิดแบบนี้ ผมว่าไม่แปลกอะไรที่เรามักจะเจอดราม่าให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ อย่าง “ต้องการจ้างเขียนเว็บไซต์ด้วยงบ 500 บาท” บ้าง “1,200 บาท” บ้าง หลังจากนั้นชาวเน็ตก็หยิบประเด็นไปสวดกันให้ยับอย่างโน้นอย่างนี้ว่ากดราคาให้เหลือแค่นี้ แต่อยากจะได้ฟังก์ชั่นเว็บไซต์ประมาณระดับโลก แล้วไหนจะมีประเด็นสำหรับคนรับทำเว็บไซต์ด้วยกันเองที่ขยันตัดราคาขึ้นแบบไม่ไว้ลายอาชีพตัวเองด้วย
ถ้าขืนเป็นอย่างนี้ต่อไป ทั้งคนจ้าง แล้วก็ทั้งผู้บริการจะแย่กันทั้งคู่
ความไว้ใจของผู้บริโภคที่มีต่อคนทำงานฟรีแลนซ์จะหมดไป ส่วนคนที่สร้างสรรค์ผลงานดีๆ อยู่แล้วก็จะกลับเจอแต่ลูกค้าที่ “ไม่ใช่ลูกค้าที่ดี” ก็จะให้ทำยังไงได้.. ต้นเหตุที่เรื่องทั้งหมดเป็นแบบนี้มาจากผู้ให้บริการเพียงไม่กี่เจ้า(หรือหลายๆ เจ้า) ที่แข่งขันกันแก่งแย่งชิงดี หั่นราคา ดาวน์เกรดบริการแบบไม่สนใจคนที่ประกอบอาชีพเดียวกันเลยแม้แต่น้อย
ผมคิดว่าผมควรแชร์ประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆผ่านบล็อกส่วนตัวนี้เกี่ยวกับเรื่องนี้ซักหน่อย โดยที่ตัวเองก็เคยเป็นฟรีแลนซ์มาพักใหญ่ๆ แล้วก็มีประสบการณ์เขียนเว็บมาเป็นสิบๆ ปีน่าจะเขียนเล่าเรื่องบางเรื่องได้พอสมควร
ที่รับทำเว็บ เราคิดถึงอะไร? เงินใช่มั้ย เก็บผลงานหรือเปล่า หรือทำเพราะอยากจะทำ
ทุกวันนี้ผมบอกได้เลยอย่างนึงว่า มีผู้ให้บริการหลายต่อหลายเจ้าพยายามตัดราคาลงมาให้ถูก เพื่อที่จะเน้นปริมาณลูกค้าให้ได้เยอะขึ้น ก็โอเค make sense ของถูกก็ย่อมขายได้มากกว่าของราคาแพง แต่คุณลูกค้าโปรดคิดไว้อย่างนึงให้ขึ้นใจเลยนะครับ
คุณจ้างเขียนเว็บไซต์ 500 บาท คุณก็จะได้ผลงานเว็บไซต์ระดับ 500 บาท คุณจ้าง 3,000 บาท คุณก็จะได้เว็บไซต์ระดับ 3,000 บาท ซึ่งนั่นก็ดูแฟร์ดีในมุมมองของผม แต่อยากให้จำไว้อย่างนึงครับ เมื่อใดก็ตามที่เราจ้างใครสักคนด้วยเงิน เวลาเราคุยกับใครคนนั้น เราต้องยึดเงินเป็นตัวตั้ง และตัวดำเนินเรื่องเสมอ ซึ่งจะต่างจากคนที่ทำด้วยเหตุผลอย่างอื่นที่ว่า “อยากเก็บผลงาน” แล้วก็ “ทำเพราะเห็นว่าอยากจะทำ“แต่ก็ใช่ว่าผู้ให้บริการที่รับราคาแพง แล้วจะได้ผลงานที่ดีเสมอไป ส่วนมากที่ผมได้ฟังมาจากลูกค้าบ่อยๆ คือไม่อยากจ้างฟรีแลนซ์ เพราะไม่มั่นใจในฝีมือแล้วก็ความรับผิดชอบ เลยต้องเสียเงิน หลักหมื่นหลักแสนไปจ้าง vendor บางเจ้า(ที่ประกอบธุรกิจในนามบริษัท) ให้เขียนเว็บไซต์ให้
ฟังแล้วก็ดูเหมือนจะวางใจได้เลยนะครับ ทำเว็บโดยจ้างบริษัท.. แต่คนที่จะไปถึงฝั่งฝันที่ตัวเองตั้งใจไว้ ก็ใช่ว่าจะเยอะ ส่วนใหญ่ที่เห็นผ่านตามามากที่สุดคือเก็บงานไม่เรียบร้อย ซึ่งโอเคดูเรื่อง interface ก็ได้ตามที่ตกลงกันไว้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เปลี่ยนมือคนทำ อยากจะจ้างคนที่รับทำราคาถูกกว่าแทนที่จะจ้างที่เดิมเพื่อ maintain ปัญหาก็จะเกิดขึ้นที่ตรงส่วนนี้ที่เจอบ่อยที่สุดก็น่าจะเป็นเรื่องของ coding เช่นตั้งชื่อตัวแปรอะไรไม่รู้ ไม่ได้คล้องจองอะไรเลย เอาส่วนนั้นมายัดไว้ส่วนนี้ เหมือนอุดรูรั่ว ปิดปะยางซ่อมไปทีละจุด พอนานเข้าๆ ขยะก็เริ่มจะเยอะขึ้น เว็บไซต์เริ่มอืด ปัญหาจิปาถะยิบย่อยเริ่มตามมาให้เห็น ซึ่งแน่นอนที่สุดการ maintain มักจะขึ้นอยู่กับมาตราฐานการเขียน code ของผู้เขียนในลำดับแรกๆ
ทำเว็บไซต์ใครก็ทำได้ครับ ทุกวันนี้ resource ฟรีมีให้เรียนทั้งออนไลน์จากวิดีโอตามเว็บไซต์ทั่วไป ไปจนถึง e-book ตลอดจนร้านหนังสือ ใช้เวลาเรียนด้วยตัวเองไม่กี่วันก็เขียนเว็บไซต์พอเป็นแล้ว แต่งานรับเขียนเว็บไซต์มันไม่ใช่แค่ใช้ทักษะแค่ว่า “เป็น” แน่นอนว่าผู้ให้บริการที่เขียนเว็บไซต์เป็น กับลูกค้าที่อยากได้อยากมี ไม่ได้รู้ข้อจำกัดของเทคโนโลยี ความแตกต่างทางความคิดมันก็เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา ผมอยากได้อย่างโน้น อย่างนั้นคุณก็ทำไม่ได้ อย่างนี้ก็บอกว่ายาก ต้องขอเพิ่มราคา ปัญหามากเข้าๆ บางรายก็ชิ่งทิ้งงานไปเสียดื้อๆ ความมั่นใจของลูกค้าถดถอย จะจ้างบริษัทให้สบายใจก็แพงแสนแพง จะจ้างฟรีแลนซ์คนอื่นก็กลัวโดนซ้ำรอยเหมือนที่เคยเจ็บมา เว็บไซต์ก็อยากจะทำอยากจะมี
โดยที่เราไม่เคยได้คิดเลยว่าวันทุกวันลูกค้าเป็นคนเลือกผู้ให้บริการ แต่ทำไมไม่คิดกลับกันว่าผู้ให้บริการจะไม่เลือกลูกค้าบ้าง ผมว่าเรื่องบางเรื่องแม่งโครต common sense เลย ถ้าเราคุยเบื้องต้นแล้วถูกใจใคร ไม่ชอบใคร บางทีเลือกได้ก็เลือกไว้บ้าง อย่างเช่น ผู้ให้บริการคนนี้เล่นสีเก่ง ทำเว็บไซต์โทนเรียบๆ แต่ลูกค้าชอบแบบเว็บข่าว อะไรเยอะๆ ตัวหนังสือเป็นร้อยในหนึ่งหน้าเพจ อันนี้ก็ดูแล้วไม่น่าไปกันได้ ฝืนทำรับงานไปยังไงก็ต้องปรับจูนกันเยอะอยู่ดี ลูกค้าเสียเวลา เราเหนื่อยขึ้น และเสียโอกาสรับงานที่ใช่ด้วย
แต่อย่างว่า ผู้ให้บริการที่ทำเพื่อเงินก็อาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องตรงนี้ก็ได้
ลองถามตัวเองสักหน่อยก็ได้ครับ ตอนที่ลูกค้ากำลัง brief รายละเอียดเว็บไซต์ให้ฟัง เคยมีสักแว๊บนึงในใจขึ้นมาหรือเปล่าว่า “เห้ย งานนี้แม่งใช่ว่ะ” “อันนี้แม่งน่าสนใจว่ะ” หรือ “อยากทำเพราะแม่งฟังดูน่าสนุก” ขึ้นมาบ้างหรือเปล่า หรืออยากจะเขียนอะไรให้ใครฟรีๆ เพราะความหลงใหล หรือเพราะที่ “อยากทำเพราะอยากจะทำ” เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญ งานทุกงาน ไม่ใช่เพื่อคนทุกคนครับ.. บางทีเรายังรู้สึกดีเลยที่มีใครมาบอกว่า “อ๋อ ขอโทษนะครับ บริการของเราไม่ได้มีไว้ให้ทุกคน แต่สำหรับคุณแล้ว เรายินดีครับ” เช่นเดียวกันสำหรับตอนสร้าง product อะไรสักชิ้นขึ้นมานั่นแหละครับ เราต่างค้นคว้าทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้รู้ว่าคนที่จะซื้อ product เราจริงๆ เป็นใคร เราอาจจะไม่ได้สร้าง product นี้เพื่อหมอ หรือเพื่อนักธุรกิจ แต่เราอาจจะสร้างเพื่อคนที่ประกอบอาชีพครู แต่มันก็เป็นผลดีแล้วไม่ใช่หรือ ที่คนที่อยู่นอกสิ่งที่เรา focus ต่างพากันสนใจเข้ามาซื้อด้วย
เว็บไซต์ที่ดีไม่ใช่เว็บไซต์ที่สวย ไม่ใช่เว็บที่เพรียบพร้อมมีฟังก์ชั่นระดับพันล้าน ไม่ใช่เว็บไซต์ที่วัดกันด้วยจำนวน line of code, ถ้าผู้ใช้ส่วนใหญ่ต่างไม่ชอบ นั่นก็ไม่ใช่เว็บไซต์ที่ดี
ผมเป็นคนหนึ่งที่อยากจะทำ เพื่อหารายได้เหมือนกัน ตอนนี้มีความคิดอยากจะทำให้คนอื่น หรืออาจจะลูกค้าเพื่ออยากที่จะสะสมประสบการ์ณ แต่ก็หวั่นๆกลัวทำออกมาไม่ดีพยามเรียนรู้ให้มาก ขอบคุณบล๊อกนี้เหมือนกันที่เป็นแหล่งความรู้ดีๆนะคับ ยังไงมีอะไรแนะนำด้วยนะคับ
ยินดีครับ ขอบคุณมากๆ
ขอถามหน่อยนึงคับ มีช่องทางไหนที่จะสามารถ พูดคุย หรือสอบถามได้ไหมคับ รึว่าคุยถามในบล็อคนี้เลยคับ
fanpage, blog หรือจะ comment ตามแต่ละบทความก็ได้ครับ เผื่อคนอื่นอาจจะพบปัญหาเหมือนกัน
อ๋อครับ ขอบคุณครับ แล้ว fanpage นี้คือ Google+ รึเปล่าครับหรือ Facebook
facebook ครับ