ความบังเอิญ

บังเอิญที่(ต้อง)รู้ บังเอิญที่(ต้อง)เห็น

คุณผู้อ่านทุกท่านเคยเกลียดความบังเอิญบ้างไหมครับ.. บังเอิญที่ต้องรู้อะไรหลายต่อหลายอย่าง ทั้งๆที่บางที เราก็ไม่ได้พร้อมจะรับรู้สิ่งนั้นเสียเท่าไหร่ เพราะยิ่งรู้ก็ยิ่งคิด จิตใจเหมือนน้ำ ยิ่งรู้ก็ยิ่งขุ่น ยิ่งกวนก็ยิ่งไม่นิ่ง ความบังเอิญอาจจะเป็นทั้งโชคดีและร้าย เพราะบางที เราก็ต้องการความบังเอิญเสียเหลือเกิน เพื่อให้ได้โอกาสที่เรานั้นอยากจะได้นักได้หนา แต่เมื่อใดก็ตามก็เราไม่ต้องการความบังเอิญเลย เราก็จะทึกทักไปเสมอๆ… โลกแม่งกลม

ผมเป็นคนชอบทำเหมือนไม่รู้ ทำเหมือนลืม ทั้งๆที่ตัวเองก็รู้อยู่แก่ใจมาโดยตลอด เราแสดงออกอีกอย่างเพื่อปิดบังอีกอย่าง และ รู้ตัวว่ายิ่งทำแบบนั้น ผลลัพธ์มันก็ยิ่งตรงกันข้าม เคยมีคนถามอยู่บ่อยๆว่า เป็นลูกคนเดียว อยู่คนเดียว ไปไหนมาไหนคนเดียว ไม่เหงาหรอ ผมก็ไม่รู้ว่าใครต่อใครนิยามให้ความเหงากันว่ายังไงบ้าง สำหรับผม ผมชอบที่จะทำอะไรคนเดียวมากกว่า ชอบที่จะนั่งฟังเสียงเงียบๆ มากกว่าได้ยินเสียงคนถาม เสียงคนชวนคุย เพราะคิดไปเองว่า มันอาจจะทำให้เราเข้าใจอะไร ต่ออะไรมากขึ้น

” เราจะเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด เมื่อเวลาเราอยู่คนเดียว ” จริงหรือเปล่าครับ ?

ถ้าเป็นจริงแบบนั้น การที่เราใช้เวลาอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งเสมอมา มันก็ทำให้เราอาจจะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปด้วยน่ะสิ ? หรือว่าบางที เราอาจจะอยู่กับใครสักคน โดยที่เราไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร ก็เป็นตัวของตัวเองแบบเดิมได้ .. ลึกๆมันทำได้จริงน่ะหรือ ผมสงสัย

ผมนั่งฟังเสียงคลื่น จ้องมองทะเล ซ้ำไปซ้ำมา-ราวกับเกิดภาพเดิมๆซ้ำๆ จนเหมือนผมแทบจะจำได้ว่าคลื่นลูกต่อๆไปห่างจากลูกแรกใช้เวลาเท่าไหร่ นั่งเฉยๆมองอย่างนั้นหลายชั่วโมง และรู้สึกดีกว่านั่งทำอะไรอยู่หน้าคอมเหมือนที่ทุกวันนี้ทำ ผมแน่ใจ.. แน่ใจ แน่ใจว่าตัวเองนั่งมองทะเลมีความสุขมากกว่านั่งใช้คอมที่รับรู้อะไรมากมายกว่ามาก

Jir4yu_Quote

หรือบางทีเราอาจจะไม่ต้องการที่จะรับรู้อะไรเลย ไม่ต้องบังเอิญที่จะรู้ ไม่ต้องบังเอิญที่จะเห็น 

ผมเชื่อนะ.. คนที่เรียนมาจบสูง จะมีความคิดต่างจากคนที่เรียนจบมาน้อยกว่า มองต้นไม้ต้นเดียวกัน แต่ตีความไม่เหมือนกัน ยิ่งเรียนเยอะรู้เยอะ ยิ่งคิดเยอะ สมองจดจำขั้นตอนต่างๆ มีรูปกระบวนการคิดจนทำให้ ต้นไม้ต้นหนึ่ง มีมากกว่า ต้นไม้ต้นหนึ่ง ส่วนใครอีกคน มองยังไงก็เป็น ต้นไม้ธรรมดาต้นหนึ่ง.. มันทำให้ผมนึกถึงช่วงที่ผมเรียนอยู่ อาจารย์ท่านหนึ่งจบปริญญาเอก มีความรู้มากเป็นที่ยกย่องนับถือของผมและใครต่อใคร แต่เวลาสอนเวลาเรียน นักศึกษามักนึกไม่ถึงในสิ่งที่แกนึกแกสอน เหมือนราวกับว่า แกเห็นอะไรในสิ่งที่เรายังไม่เห็น

บางทีนักวิชาการอาจจะคิดเยอะไป.. เยอะเกินกว่าที่ใครต่อใครจะคิดถึง นั่นทำให้เกิดความแตกต่างทางความคิด ความแตกแยกทางความคิด และ อาจจะเป็นเหตุนำพาให้ทะเลาะเบาะแว้ง เห็นต่าง และ ไม่เข้าใจในที่สุด ก็เป็นได้

แล้วมันจะไปต่างอะไรกับคนทั่วไป ที่ธรรมดาบางทียังไม่เข้าใจ ยังทะเลาะกัน ต้องปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถึงแม้ทุกคนจะไม่เหมือนกัน แต่ เราก็ต่างเลือกที่จะปรับตัวเข้าหากันและกันได้ หรือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น.. บางที การทำเป็นไม่รู้ ทั้งๆที่รู้ การทำเป็นลืม ทั้งๆที่ยังจดจำ หรือ การเลือกที่จะหนี การเลือกที่จะไม่รับรู้แต่แรก นั้นอาจจะเป็นวิธีที่ชุ่ยที่สุด แต่ได้ผลดีที่สุด 

ก็แค่อาจจะเป็น ..

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ