AI กับเด็กจบใหม่

หลังจากเข้ามาเป็นอาจารย์พิเศษสอนเด็กปริญญาตรีที่ใกล้จบได้ประมาณครึ่งเทอม ก็เริ่มกลับมาคิดเรื่องการหางานทำเป็นงานแรกของเด็กจบใหม่ เอาตรงๆ ก็ค่อนข้างกังวลแทนน้องๆที่สอนอยู่นี้เหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะมีสถิติหลายสำนักเผยติดต่อกันออกมาหลายปีว่าตลาดต้องการเด็กไอที หรือเด็กจบใหม่สายไอทีขาดตลาด ก็ทุกวันนี้เด็กจบใหม่ไม่ใช่เพียงแต่แข่งขันกับเด็กที่จบออกมารุ่นราวคราวเดียวกันอย่างเดียวแล้ว ยังต้องแข่งกับปัญหาสารพัดทั้ง generation gap ที่มีข่าวออกมาอยู่เรื่อยๆ ว่าบริษัทไม่อยากรับคน gen Z เข้าทำงาน แล้วไหนจะต้องแข่งกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดเมื่อโลกเข้าสู่ยุค AI อีก

สมัยผมจบใหม่ออกมานับว่ากลายเป็นเรื่องดีไปเลยเมื่อมองย้อนมาเทียบกับสมัยนี้ ตอนนั้นเราอาจจะแข่งกันกันเรื่องความสามารถบ้าง ทำเลภูมิลำเนาที่เราอยู่บ้าง หรือจำนวนเด็กจบใหม่ที่ออกมาจากสถานศึกษาในแต่ละปีบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วเด็กที่จบสายไอทีมาก็วนเวียนเข้าออกตลาดได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ด้วยความที่หลายบริษัทกำลังจะพาตัวเองให้เข้าสู่โลกยุคดิจิทัลหรือการทำ business transformation อย่างที่เราเคยได้ยินบ่อยมากๆช่วง 5 ปีหลัง

เด็กจบใหม่

เทียบกับสมัยนี้เด็กจบใหม่ต้องเจอการแข่งขันที่รุนแรงไหนจะปัญหาด้านอุปสงค์-อุปทานที่ไม่เสมอกันเป็นด่านแรก เด็กจบใหม่แต่ละปีมีประมาณ 400,000 คน[1] ซึ่งตำแหน่งงานว่างนั้นมีไม่มากพอที่จะรับจำนวนขนาดนี้ได้ (มีผลสำรวจออกมาว่าปีๆ นึงน่าจะมีตำแหน่งงานว่างประมาณ 150,000-200,000 ตำแหน่ง[2] ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่อยู่นั้นๆอีกเล็กน้อย สภาพตลาดการจ้างงานทั่วโลกก็มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับการมาของพวก generative AI ที่ช่วยให้หลายอาชีพใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นมาก

แล้วก็ปัญหาเรื่องสภาพสังคมเดิมๆ อย่างบริษัทที่ต้องการคนที่มีประสบการณ์ในการทำงาน (ซึ่งเด็กจบใหม่ไม่มี ถ้าเจอแบบนี้แล้วจะหาที่ทำงานที่ไหน หรือที่ฝึกงานที่ไหน) กับอีกเรื่องคือปัญหา generation gap ดังที่กล่าวไปว่าผู้บริหารในองค์กรหลายแห่งไม่อยากได้เด็ก Gen Z เข้าทำงาน อาจจะเป็นเพราะการวางตัว การแสดงออกที่อาจจะดูแล้วว่าเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้ หรืออาจจะเข้ามาทำลายบรรยากาศในการทำงานของคนที่ทำงานอยู่แล้วเดิม

ส่วนตัวในฐานะที่หนึ่งในหน้าที่นึงเป็นอาจารย์ ก็ค่อนข้างกังวลพอสมควร

กลายเป็นเริ่มคิดเริ่มกดดันหน่อยๆ ว่าเราจะช่วยเด็กได้ยังไงให้จบไปแล้วสามารถมีงานทำเริ่มต้นสายการทำงานของตัวเองได้ หรือต้องเตรียมตัวเตรียมชุดความคิดให้น้องๆ ยังไงประกอบเข้ากับการสอนแต่ละอาทิตย์ แต่ก็อย่างที่รู้กันเหมือนที่เราเคยเป็นเด็กมา เคยอายุเท่านั้นมา พอพูดถึงเรื่องที่อยู่ไกลตัวออกไปหน่อย ยังไม่เห็นภาพในวันนี้ ความสนใจของนักศึกษาก็ลดน้อยลงตามไปด้วย จะมาเห็นว่ามันสำคัญก็ช่วงที่ต้องเผชิญกับมันแล้วนั่นล่ะ

สมัยก่อนเราอาจจะไม่มีอินเตอร์เน็ต เข้าถึงสิ่งเร้าในห้องเรียนได้ยาก มันเหมือนเป็นภาคบังคับให้เราทำได้อยู่ไม่กี่อย่าง หนึ่งคือตั้งใจฟังตั้งใจเรียน หรือสองคือนอนฟุบลงไปแล้วรอให้หมดคาบ การมาเรียนของนักศึกษาปริญญาตรีจำนวนไม่น้อยที่พยายามเผาเวลาให้หมดไปในแต่ละวัน เข้าห้องเช็คชื่อ ทำงานส่ง และพยายามรักษาเกรดให้พอผ่านรู้แล้วรู้รอดไป เราในตอนนั้นยังมองภาพไม่ออกว่าตลาดแรงงานมีการแข่งขันกันสูงแค่ไหน ต้องเจอกับอะไรบ้าง ถึงแม้ว่าจะเคยพยายามเข้าใจเบื้องต้น หรือลองหาข้อมูลมาบ้าง แต่มารู้ตัวอีกทีก็นั่นแหละ.. ตอนทำงานที่แรก

ในมุมของคนที่ทำงานเขียนโปรแกรม และออกไปเจอคนมากหน้าหลายตาเพราะเปิดบริษัทท่องเที่ยว สิ่งที่น่ากังวลที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง AI กับสิ่งที่นักศึกษาจบใหม่ทำได้ บริษัทผมเองไม่ได้รับนักศึกษาฝึกงาน อาจจะเป็นเพราะงานแต่ละงานที่ได้ยังเป็นงานที่ต้องใกล้ชิดกับลูกค้า ผิดพลาดได้น้อย ต้องแก้ปัญหาหน้างานบ่อย ประกอบกับไม่มีคนสอน และคนที่ทำงานด้วยกันก็อยากทำงานกับคนที่เป็นมืออาชีพในเรื่องนั้นๆ เราเลยไม่อยากทำงานกับคนไม่มีประสบการณ์และไม่พร้อมที่จะสอน ประกอบกับพวกงานพื้นฐานทั่วไปก็ใช้ generative AI พอแก้ไขได้ หรืออะไรที่ทำไม่ได้ก็จะจ้าง outsource หรือ freelance ที่มีฝีมือด้านนั้นไปเลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้าน programming ที่ทุกวันนี้ผมยังเขียนทุกอย่างคนเดียวอยู่ ก็ใช้ AI ในการช่วยเขียนโปรแกรมบางส่วน แต่เป็นองค์ประกอบนึงในแต่ละวันที่ต้องเปิดขึ้นมาถาม เปิดขึ้นมาใช้ทุกวัน บางทีเราทำงานมานานอาจจะพอมีประสบการณ์ในการแก้ไขเรื่องบางเรื่องมาบ้าง ก็ใช้พวก ChatGPT, Claude ในการสร้าง code ตาม business requirement หรือ business logic ที่เราคิดได้ แล้วก็ประยุกต์นิดหน่อย เอาสิ่งที่ AI ให้มาไปปรับเล็กน้อยเป็นรูปแบบของงานเราเองมันก็ใช้ได้แล้ว

อาจจะใช้เวลาทำงานเองมากขึ้นนิดหน่อย แต่คุมคุณภาพในแบบที่เราต้องการได้ (น่าจะเหมาะกับพวก perfectionist) แต่ถ้าเทียบกับให้เด็กจบใหม่ทำงานงานนึง แล้วให้เขาได้เรียนรู้เพื่อคาดหวังว่าจะมาช่วยงานเราได้ในอนาคต อันนี้ก็มีความเสี่ยงอีกว่าถ้าเราใช้เวลาสอนงานใครสักคนนึงไปแล้ว แล้วเกิดเกเร ได้ความรู้ได้ประสบการณ์แล้วออกไปทำงานที่อื่น บางทีงานอาจจะพอไปได้ แต่บำรุงรักษาลำบากก็ต้องมาใช้เวลาแก้นั่นปรับนี่อยู่ดี

ฉะนั้นแล้วสิ่งที่เรามอบให้เด็กก่อนจบใหม่ทุกวันนี้ได้น่าจะเป็นชุดความคิดในการแก้ไขปัญหา การมองปัญหา พร้อมกับประสบการณ์ที่เราทำงานมาเพื่อที่น้องพอจะมีพื้น พอจะมีคลังการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก่อนเจอปัญหาจริง หรือแม้แต่ถ้อยคำหรือวิธีในการสื่อสารก็ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ AI น่าจะแทนได้ยากในช่วงแรก

แต่ก็นั่นแหละครับ ขึ้นอยู่กับว่าเด็กแต่ละคนจะเปิดรับสิ่งที่เราสอนมากน้อยแค่ไหน เพราะหนึ่งในสิ่งที่เป็นความท้าทายของคนที่ทำหน้าที่อาจารย์คือการสอนเรื่องที่ไกลตัวของผู้ฟังให้น่าสนใจ เก็บไว้ใช้ได้ในยามที่ต้องนำความรู้นั้นออกมาใช้จริงๆในอนาคต

อ้างอิงข้อมูล:
[1] คนไทยเรียนจบ ป.ตรี มากกว่างานที่มี และทั่วโลกเกิดปัญหา ‘ระดับการศึกษาไม่ตรงกับงาน’
[1] ประชากรไทยตามวุฒิการศึกษา คนไม่จบปอตรีคิดเป็นร้อยละ 91.2 ของประชากรทั้งหมด และสายวิทย์ยิ่งจบน้อยมาก
[2] แนวโน้มจ้างงานในไทยปี 66 พุ่ง เช็ก 3 สายงานที่ตลาดแรงงานต้องการ
[2] เปิด Big Data ตลาดแรงงาน Q1 ปี 66 ตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นแต่ยังกระจุกตัว – งานวิศวกรต้องการทักษะหลากหลายขึ้น

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ