Rank does not confer privilege or give power. It imposes responsibility.
– Peter Drucker
ถ้าเราทำ A เราจะไม่ได้ทำ B หรือถ้าเราไปทำ B เราจะไม่ได้ทำ C
trade off นั้นเกิดขึ้นทุกวันทุกการตัดสินใจ ในวันหนึ่งวันเราจะต้องตัดสินใจเรื่องเล็กๆน้อยๆ (microdecisions) อยู่ตลอดเวลา พอเย็นเข้าตกค่ำหน่อยสมองก็จะล้าจะเหนื่อย ทำให้การตัดสินใจของเราช่วงเย็นไปแล้วอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดนัก ซึ่งในบริบทของจิตวิทยา เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า decision fatigue
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่อยากจะเขียนถึงในวันนี้ครับ
เรื่องที่อยากจะเก็บมาเขียนในวันนี้เป็นเรื่อง opportunity cost หรือต้นทุนค่าเสียโอกาส เป็นเรื่องที่ได้เรียนรู้ช่วงป.โทน่าจะในวิชาการเงินหรือการจัดการอะไรสักอย่าง ซึ่งตอนนั้นไม่ได้ใส่ใจกับมันมาก แค่พอเข้าใจเบื้องต้นรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่สิ่งที่ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องนี้อย่างแท้จริงเลยคือตอนที่ออกมาทำงานข้างนอกแล้ว โดยเฉพาะกับบริษัทของตัวเอง
ต้นทุนค่าเสียโอกาสนั้นคือค่าของทางเลือกที่เราไม่ได้เลือก มันอาจเกี่ยวกับตัวเงินหรือไม่เกี่ยวก็ได้ เช่นการที่เราเลือกทำ A ค่าเสียโอกาสอาจหมายถึง ค่าหรือมูลค่าของตัวเลือก B และ C ที่เราไม่ได้ตัดสินใจเลือกที่จะทำสิ่งนั้น ซึ่งในชีวิตการทำงานจริงเราจะต้องเจอมันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจที่ต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่างนึงภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด ก็จะต้องคิดถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสให้มาก
ต้องตัดสินใจชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างทางเลือกและโอกาสที่เข้ามา บางโอกาสอาจไม่ได้มาบ่อยๆ แต่ถ้าเราไม่พร้อมหรือเลือกทางเลือกอื่นไปแล้วก็อาจทำให้เกิดผลกระทบมากมายต่อตัวเอง องค์กร พนักงานหรือบุคคลรอบข้าง
การทำสิ่งหนึ่งเพื่อรู้แค่ว่าคุ้มหรือไม่คุ้มทางการเงินอาจนำมาซึ่งการตัดสินใจที่ตื้นเขินจนเกินไป เงินอาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในช่วงเวลานึงถึงแม้สถานะทางการเงินขององค์กรจะไม่สู้ดีนัก การมีเวลาและความพร้อมเพื่อโอกาสที่ดีและให้ผลประโยชน์ระยะยาวอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าได้เหมือนกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรด้วยในเวลานั้นๆ
แต่ไม่ว่าจะตัดสินใจยังไงก็ตาม ก็ควรคิดถึงสภาพความเป็นอยู่ของบุคลากรในทีม สภาพจิตใจในการทำงาน ร่วมไปถึงผลประโยชน์ระยะยาวขององค์กรให้มาก มากกว่า KPI ส่วนตัวที่พยายามจะหามาเพื่อให้ดูดีพอประครองตัวเองได้ในช่วงเวลาสั้นๆ
ต้นทุนค่าเสียโอกาสในชีวิตจริง
ที่ไม่ว่าใครก็ต้องพบเจอ ถ้าเราเลือกที่จะทำงาน ไม่ไปเรียนต่อ ค่าเสียโอกาสก็เป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์จากการพบเจอเพื่อน เจออาจารย์ หรือเจอวัฒนธรรมในต่างประเทศ แต่ถ้าเราเลือกที่จะไปเรียนไม่เลือกทำงาน ค่าเสียโอกาสก็อาจเป็นโอกาสในการเติบโตทางหน้าที่การงาน โอกาสที่จะได้ทำงานจริง โอกาสที่จะพิสูจน์ตัวเองต่อความยากลำบาก หรือประสบการณ์แปลกใหม่ที่เราอาจไม่เคยได้รับ ทางเลือกทั้งหมดอาจเป็นได้ทั้งเรื่องที่ดีและแย่ ทางเลือกทั้งหมดต่างมีความน่าจะเป็นในแบบของมัน
ถึงเราจะเลือกทางไหน เราก็ควรทำสิ่งที่เลือกนั้นให้ดีที่สุด จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลังหรือคิดว่าจะทำแต่ไม่ได้ทำ ท้ายที่สุดทางเลือกทั้งหมดมันก็คงสอนเราไม่ด้านใดด้านหนึ่งอยู่ดี ขึ้นอยู่กับว่าสภาพจิตใจเราจะเข้มแข็งพอที่สู้และผ่านมันไปหรือเปล่า
ถ้าใจรักเดี๋ยวก็ผ่านมันไป.. แต่ถ้าไม่ ก็ทรมานหน่อย แค่นั้น