เมื่อสองปีก่อนผมเขียนบทความ แรงจูงใจของโบนัส ซึ่งบทความดังกล่าวได้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจหน้าทัศนะเมื่อช่วงต้นเดือนเมษาปี 2562 ตอนนั้นยังไม่มีโรคระบาด หลายคนเลยพูดถึงเรื่องโบนัสและหน้าที่การงานกันเป็นปกติเหมือนทุกปี แต่แล้วอะไรๆก็เปลี่ยนไปจนตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะไปสิ้นสุดตอนไหนหรือส่งผลอะไรอีกบ้างในอนาคต
ที่พูดถึงเรื่องแรงจูงใจของโบนัส เพราะเมื่อเร็วๆนี้ได้อ่านหนังสืออีกเล่มของ Prof. Dan Ariely ครับ ชื่อ The Upside of Irrationality เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอีกเล่มที่ดีมากเหมือนเคย และในบทนึงของหนังสือเขียนเอาไว้ถึงการทดลองเพื่อสังเกตุพฤติกรรมของคนเกี่ยวกับการให้เงินเพิ่ม เงินพิเศษ เงินโบนัส หรือเงินที่นอกเหนือจากการได้รับค่าจ้างปกติ
ผู้เขียนสรุปว่าหากเป็นงานที่ใช้แรงงาน เงินโบนัสจะเป็นตัวเร่งให้ผลลัพธ์ดีขึ้นหรือทำงานออกมาได้งานมากขึ้นจะว่าแบบนั้นก็ได้ แต่ในทางกลับกันหากเป็นงานที่ต้องใช้สมอง การคิดวิเคราะห์ ตัวเงินอาจทำให้ผลลัพธ์แย่ลงกว่าเดิม เพราะผู้คนคิดถึงเรื่องตัวเงินเทียบกับงานที่ตัวเองกำลังจะทำ ลองนึกถึงการให้เงินโบนัสนายธนาคารในการควบรวมกิจการ การวิเคราะห์หลายๆอย่าง รวมไปถึงวิศวกรที่ออกแบบตึกรามบ้านช่อง ก็คงไม่มีให้เห็นกันบ่อยนัก แต่ถ้าเป็นเรื่องทำงานบริการล่วงเวลาแล้วได้เงินโบนัสเพิ่ม อันนี้ถือเป็นเรื่องปกติ
เราภักดีต่ออะไร?
คำถามที่สำคัญคืองานที่เราทำอยู่ทุกวันนี้นั้นเป็นงานที่เรารักภักดีทำให้จริงหรือเปล่า หรือเราภักดีต่อค่าจ้าง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าสมมติว่าเราไม่มี bias เข้าข้างใดข้างหนึ่งเลย ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างทั้งสองฝ่ายน่าจะคุยกันง่ายขึ้นถึงสิ่งที่แต่ละฝ่ายต้องการอย่างชัดเจน(ว่ากันด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์) ผมมีเงิน ผมต้องการงาน ถ้าผมจ่ายมากหมายถึงผมจะได้งานมากขึ้นตามที่ต้องการ เช่นเดียวกันกับฝั่งผู้ทำงาน เมื่อไหร่ที่มีค่าจ้างงานก็ไม่ขาดตอน
และเพราะเราเป็นมนุษย์ เรื่องเศรษฐศาสตร์พื้นฐานมันเลยไม่ได้ง่ายแบบนั้น ผมเองตอนเด็กกว่านี้หน่อยเราก็มักจะมีใจกับงาน มีใจกับองค์กร บางครั้งทำอะไรอาจจะด้วยอารมณ์บ้างเป็นเรื่องธรรมดา งานหนักงานไม่เสร็จยินดีอยู่ องค์กรมีปัญหาอะไรที่ช่วยได้ก็ทำเต็มที่ แต่สิ่งที่หลายคนพบเจอได้บ่อยในตอนสุดท้ายคือ ถ้าหมดใจคือไปเลย
เมื่อก่อนพอได้ยินคำว่า เรียนบริหารก็คงหมายถึงการบริหารองค์กร เงินทุน นักลงทุน ผู้มีส่วนได้เสีย หรือการประชาสัมพันธ์สร้างแบรนด์ หรืออื่นๆ จนตอนนี้เริ่มเข้าใจแล้วว่าการการบริหารที่ยากอีกเรื่องนึงและต้องเจอแน่ๆคือการบริหารความคาดหวัง บริหารอารมรณ์ความรู้สึก มันเป็นการบริหารที่อาจจะไม่มีให้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งในห้องเรียน แต่พอมาเจอจริงแล้วรู้สึกว่าส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญเป็นลำดับต้นๆของการทำงานในทุกวันนี้ไปแล้ว
ความรู้สึกมันเหมือนกับการเย่อเบ็ดตกปลา จะเรียกแบบนั้นก็ได้ครับ
หมุนดึงรอกแรงเร็วเกินไปแบบไม่แคร์อะไร สายก็อาจจะขาดเกิดผลเสียกับตัวเองและองค์กรได้ จะหย่อนไปก็ทำให้งานในแต่ละวันไม่มีความคืบหน้า ได้แต่ตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่เราจะถึงเป้าหมายที่ตั้งกันไว้เสียที มันเหมือนเป็นเรื่องที่ต้องผ่อนและเร่งตามจังหวะเหมือนการเล่นเกมส์ แต่เป็นการเล่นเกมส์ที่ตัวเองไม่อยากเล่นแม้แต่น้อย
เราอยากเร่งเครื่องตลอดเวลา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ เพื่อให้ได้รู้ว่าผิดถูกอะไรตรงไหนแล้วค่อยปรับแก้ โดยที่อาจจะไม่ได้แคร์บุคคลรอบข้างมากนัก แต่หลายๆอย่างก็ทำไม่ได้ เราไม่สามารถเร่งเครื่องหรือดึงรอกเพื่อลากเบ็ดกลับมาได้เร็วและบ่อยดั่งที่ต้องการเพราะต้องคำนึงหลายปัจจัยจนทำให้เราพะวงหลายต่อหลายอย่าง นานวันเข้าก็มีเกิดสงสัยบ้างติดใจบ้างเป็นเรื่องที่พบเจอได้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ
มันเหมือนเราคนเดียวที่ติดอยู่ใน productivity trap ที่ต้องการผลลัพธ์ของงานในแต่ละวันอย่างสม่ำเสมอโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยภายนอกอื่นเลย เราเริ่มไม่เข้าใจเรื่องของการผ่อนหนักผ่อนเบา และคิดถึงแต่เรื่องเศรษฐศาสตร์ว่าจะได้อะไรเสียอะไร จนรู้สึกว่างานที่ทำในแต่ละวันมันเปลี่ยนเราไปมากกว่าตอนที่เราเริ่มทำงานจริงวันแรกเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว
พอคิดว่าเร่งคนอื่นไม่ได้ เราก็เก็บงานไว้กับตัวเอง คิดว่าตัวเองน่าจะเป็นคนเดียวที่ทำผลลัพธ์ได้ทันตามที่ตั้งใจ สุดท้ายกลับกลายเป็นผลเสียกับองค์กรเพราะไม่สามารถถ่ายงานให้คนอื่น หรือขยายขอบเขตของงานไปมากกว่านี้ได้ นี่ยังไม่รวมความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเองทำให้งานหยุดเดินไม่สามารถหาคนมารับช่วงต่อได้อีก
เขียนไปแล้วก็นึกตลกถึงตัวเองสมัยยังเรียนป.ตรีอยู่ เคยคิดว่าการเรียนบริหารเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจเพราะนึกว่าสามารถเรียนรู้เองจากหลายแหล่งได้ และก็น่าจะแค่เอาเรื่องพื้นฐานของศาสตร์หลายแขนงมารวมกัน เรียนให้ลึกขึ้น ทำงานกลุ่มให้มากขึ้นเพื่อเป้าหมายคือสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้.. แต่ทุกวันนี้คือต่างไปมาก
จนถึงตอนนี้เริ่มรู้สึกว่างานบริหารเป็นงานที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และงานมันไม่ได้ง่ายเหมือนแค่คิดว่าบริหารพวกตัวอักษรที่อยู่ในกระดาษ ในหนังสือ แต่เป็นการที่ต้องคิดถึงความรู้สึก ความคาดหวัง และจังหวะแต่ละช่วงวัยของมนุษย์ด้วยในเวลาเดียวกัน