ราว 3 – 4 ทุ่มจะเป็นช่วงที่ผมเริ่มออกจากออฟฟิศและขับรถกลับบ้าน ช่วงเวลาสั้นๆประมาณ 40 นาทีนี้กลับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญแต่ได้รับการประเมินค่าจากตัวเราเองต่ำเกินไปเสมอ ผมใช้เส้นทางเดิมซ้ำๆทุกคืนซึ่งไม่เหมือนกับช่วงเดินทางมาตอนกลางวันที่เปลี่ยนไปเรื่อยเพื่อหลีกเลี่ยงรถติด ซึ่งเหตุผลของการใช้เส้นทางเดิมๆซ้ำๆก็เป็นเพราะเราจะได้คิดอะไรเล่นไปเรื่อยได้ โดยที่ประสิทธิภาพการขับรถก็ยังคงเกือบหรือเหมือนปกติอยู่
เหตุการณ์แบบนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็น Subliminal driving หรือขับรถโดยใช้จิตใต้สำนึก
เคยไหมครับ ขับรถไปสถานที่หนึ่ง เปิดเพลงปกติ นั่งคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย ก็ขับถึงที่หมายได้ แต่จำเหตุการณ์ระหว่างทางแทบจะไม่ได้เลย เพลงที่ชอบผ่านไป แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไร หรือในเส้นทางมีจุดเล็กๆน้อยๆอะไรผ่านตาก็แทบจะนึกไม่ออก แต่ถ้าคันหน้าเบรกกระทันหัน สมองของเราจะ swap กลับมาเหมือนโหมด full-control เหยียบเบรกได้ทันทีทันใดภายในเสี้ยววินาที ซึ่ง subliminal นี้เองก็มักจะใช้กับเรื่องอื่นๆในชีวิตประจำวัน เช่นการโฆษณา, การตลาด และจิตวิทยาสังคมด้วยเสมอๆ ถ้าสนใจเพิ่มเติมก็ลองค้นหาใน Google สนุกๆดูว่า subliminal ads อะไรทำนองนี้ครับ
มีสาระพอประมาณ กลับมาที่เรื่องที่อยากจะบันทึกส่วนตัวต่อสักหน่อย
ที่บอกว่าช่วงเวลาขับรถกลับบ้านตอนกลางคืนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับผม แต่ได้รับการประเมินค่ามันต่ำเกินไปเพราะ มันเป็นช่วงที่สามารถละลายความรู้สึกต่างๆที่พบเจอมาตลอดทั้งวันออกมาได้เป็นฉากๆ เรารู้สึกอย่างไร เราโอเคแค่ไหนกับวันนั้น มีเรื่องอะไรที่เราเจอแล้วรู้สึกยาก ใช้เป็นบทเรียนสำหรับวันข้างหน้าได้บ้าง มันเป็นช่วงเวลาที่เราได้อยู่กับตัวเอง เรียนรู้ตัวเองว่ารู้สึกอย่างไร
ที่บอกว่ามันสามารถละลายความรู้สึกได้ดีก็อาจจะเป็นเพราะสมองเราเริ่มล้า เราเริ่มเหนื่อยกับการทำงาน เหนื่อยกับการที่ต้องตัดสินใจเรื่องต่างๆ ยิบย่อย (micro-decisions)มากมายตลอดทั้งวัน จนเรารู้สึกเหนื่อยอ่อน รู้สึกท้อถอย และต้องการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือต้องการแค่กลับมาถึงบ้านเปิดเป๊ปซี่และนั่งดู Netflix เอื่อยเฉื่อยสักชั่วโมง
ผมเป็นประจำนั่นแหละครับ
ไม่ต้องพาตัวเองไปนั่งทำแบบทดสอบว่า burnout แค่ไหนก็รู้ตัวดี และเรื่องพวกนี้ผมเองก็ไม่ได้โกหกตัวเองอยู่แล้ว ก็ยอมรับอยู่ตลอดว่ามันหนักมันเหนื่อยแต่ก็คิดว่าเดี๋ยวมันก็คงผ่านไป พยายามจะคิดว่าไม่ยอม เป็นคนรั้น ไม่หนีปัญหา พยายามแสดงความเป็นผู้ใหญ่ทั้งๆที่วุฒิภาวะก็ยังไม่ได้นิ่งมั่นคงอะไรขนาดนั้น แต่ก็ยังคงหวังเสมอว่าวันข้างหน้าไม่ช้าก็เร็วเราก็จะยอมรับเรื่องต่างๆพวกนี้เองได้
ศัลยแพทย์เป็นอาชีพที่ต้องตัดสินใจในแบบที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ทุกวันมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว การผ่าตัดทุกครั้งล้วนมีความเสี่ยง ศัลยแพทย์จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการผ่าตัดที่ไม่จำเป็น…..
…. ซึ่งศัลยแพทย์จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างโอกาสกับความเสี่ยง การตัดสินใจแบบนี้เป็นตัวแบ่งแยกระหว่างศัลยแพทย์มือหนึ่ง กับศัลยแพทย์ทั่วไป
— 8 ตุลาคม, The Daily Drucker
การตัดสินใจ
คุณผู้อ่านคิดว่าการเพิ่มพูนวุฒิภาวะ หรือการได้รับการยกย่องจากคนอื่นด้านการแก้ปัญหาคืออะไรบ้างครับ ส่วนตัวผมคิดว่าหนึ่งในนั้นและเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดข้อนึงที่แยกเราระหว่างความเป็นเด็กกับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่คือการตัดสินใจ
เราต้องตัดสินใจอยู่เสมอ และการตัดสินใจเองก็มีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งระยะสั้นและยาว การตัดสินใจที่หนักหนาและจะเป็นตัววัดว่าเรารอบคอบแค่ไหนคือการตัดสินใจที่เอาสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันไปผูกกับอนาคตที่ไม่แน่นอน การสร้างพันธนาการที่รั้งขารั้งคอนี่แหละจะสอนเราหลายอย่างตั้งแต่วันที่ได้ตัดสินใจไปจนถึงวันที่หมดพันธะเลย
แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าการตัดสินใจแต่ละครั้งถูกต้องไหม
ก็อาจจะไม่รู้หรอก แต่ที่เรารู้แน่ๆคือเราจะเรียนรู้จากผลลัพธ์จากสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วมาใช้ประโยชน์ และแก้ไขปรับปรุงไม่ให้ผิดพลาดแบบเดิมได้ยังไงอันนี้น่าจะเป็นเรื่องที่แน่นอนและมองโลกตามความจริงกว่า
แต่ก็มีเรื่องน่าแปลกอีกเหมือนกัน.. บ่อยครั้งที่การตัดสินใจคนเดียว แต่ผลลัพธ์ที่จะตามมานั้น คนอื่นต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วย
ด้วยความที่สนใจเรื่องจิตวิทยาสังคม ผมชอบดูการทำงานเป็นทีมของหลายบริษัท ทั้งเจอที่ร้านกาแฟข้างนอกโดยบังเอิญบ้าง หรือที่บริษัทของลูกค้าบ้าง พบว่าบ่อยครั้งที่ผู้มีอำนาจกว่าคนอื่นมักจะละเลยรวบการตัดสินใจเอาไว้เอง ยิ่งรู้ว่าตัวเองมีอำนาจมากเท่าไหร่ การลงไปถามไถ่คนอื่นให้รอบคอบก็จะน้อยลงเท่านั้น
แต่อย่างว่า อำนาจควรจะต้องมีพร้อมความรับผิดชอบเสมอ ถ้ามีอำนาจแล้วไม่มีความรับผิดชอบ ผลลัพธ์ก็ไม่อาจดีได้ แต่ถ้ามีความรับผิดชอบแล้วขาดอำนาจ ผลลัพธ์ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ การให้อำนาจไปอยู่ในมือคนที่ไม่เรียกร้องและรู้ว่าอะไรถูกผิด ก็อาจจะเป็นวิธีการที่ใครหลายคนอยากให้เป็น แต่คงพบไม่ได้บ่อยในความเป็นจริง
ก็แค่การขับรถกลับบ้าน.. ทำไมถึงเป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้อะไรมากมายกว่าได้พูดคุยกับคนอื่นนะ หรือแท้จริงแล้วการเรียนรู้เพิ่มพูน คือการที่ได้รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เป็นอะไร แล้วจะแก้ไขเรื่องต่างๆ ด้วยประสิทธิภาพที่ตัวเองมีอยู่ได้อย่างไรมากกว่าการออกไปถามหาเอา หรือเรียกร้องจากคนอื่น