3 แง่คิดที่ได้จากหนังสือ “คิดอย่าง Amazon”

Amazon เป็นเว็บไซต์ e-commerce ระดับโลกที่มีมูลค่าหุ้นสูงมาก อย่างวันที่เขียนบทความนี้ราคาก็อยู่ที่หุ้นละประมาณ 120,000 บาท เป็นบริษัทที่มีการจ้างงานมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีเทคโนโลยีมากมายหลายอย่างที่น่าสนใจต่อเนื่องตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา หลังจากได้อ่านหนังสือ “คิดอย่าง Amazon (Think like Amazon)” เขียนโดยคุณ John Rossman ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารจาก Amazon เองก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างพอสมควร

ทำไมบริษัท Amazon ถึงน่าสนใจ และเป็นบริษัทที่เติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี ผมคิดว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้จากคนในที่เป็นคนเขียน น่าจะทำให้เราพอรู้อะไรบางอย่างเพื่อปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ในหนังสือเป็นการรวมเอาแง่คิดที่ได้จากการทำงานตลอดระยะเวลาหลายปีของคุณ JohnRossman ภายใต้การบริหารของ Jeff Bezos ซึ่งมีเทคนิคบริหารการจัดการที่น่าสนใจไม่แพ้ CEO ใครคนใดในโลกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ภาพจาก: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Jeff_Bezos_Unveils_Blue_Origin_Lunar_Lander.jpg

Day 1 Company

แง่คิดแรกคือ “Day 1 Company” หรือจงเป็นเหมือนบริษัทที่ตั้งใหม่วันแรกเสมอ มันเหมือนเป็นการเปรียบเปรยว่าให้ทำอะไรด้วยความกระหายและมีไฟอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับการตั้งบริษัทของตัวเองใหม่ช่วงแรกๆหรือวันแรกๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับหลายบริษัทรวมถึงบริษัทของผมเอง

พอนานวันเข้าความรู้สึกก็คงไม่เหมือนกับวันแรกที่เราอยากทำ มีไฟอยากเปลี่ยนนั่นทำนี่ เหมือนกับคนที่พร้อมลุยพร้อมเจออะไรอยู่ตลอดเวลา พอเราอยู่กับสิ่งที่มีนานเข้าก็อาจจะเริ่มล้าเริ่มเหนื่อยบ้าง บางอย่างอาจจะขอผลัดวันประกันพรุ่งไปบ้างหรือไม่ได้ตั้งใจขวนขวายพร้อมที่จะเหนื่อยเหมือนกับที่ทำอยู่ในวันแรกๆ

พออ่านแง่คิดข้อนี้แล้วก็เริ่มพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง เริ่มกลับไปนึกย้อนถึงตัวเองในวันเก่าๆที่เจออะไรก็ทำเจออะไรก็เอา เปิดรับทุกโอกาสทุกอย่างจนมีวันนี้ได้ พอมองย้อนดูตัวเองก็ได้แต่สงสัยว่าทำไมเราถึงปล่อยปละละเลยบางอย่างไปขนาดนี้ ต้องขอขอบคุณ Day 1 ที่ทำให้เรากลับมามองตัวเองอย่างจริงๆจังๆ

ไม่เห็นด้วย แต่ก็เอาด้วย (Disagree but commit)

ข้อนี้เป็นข้อที่ผมชอบมากข้อนึงที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ Jeff Bezos เคยตั้งกฏภายในและสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ทุกคนที่ทำงานร่วมกันเป็นทีมมีการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา และก็เกิดเป็นแนวคิดข้อนึงคือ Disagree but commit หรือ ไม่เห็นด้วย แต่ก็เอาด้วยขึ้นมา

ข้อนี้ผมมองว่าสำคัญในการทำงานร่วมกันกับคนอื่นในโลกปัจจุบันที่อะไรก็รวดเร็วและก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดได้ง่าย บางทีเรา brainstorm กันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมา ซึ่งอาจจะเกิดไอเดียหลายรูปแบบที่ขัดแย้งหรือไม่ลงรอยกันเป็นทางเลือก A หรือ B ได้เสมอ

หลังจากถกเถียงกันแล้วบางครั้งอาจยังไม่ได้ทางออกที่ชัดเจนทางเลือกเดียว ถ้ายึดตามแนวทาง Disagree but commit ก็หมายถึงบางครั้งที่เราไม่เห็นด้วยกับมติในที่ประชุมหรือผลการตัดสินใจของทีม แต่ก็ต้องยอมรับและเอามาปฏิบัติ กรณีแบบนี้ผมเองก็เคยเจออยู่บ่อยๆ คืออาจจะไม่ได้ตรงกับที่เราต้องการหรือเสนอไปในตอนแรก แต่ก็พยายามเข้าใจและยอมรับแล้วนำมาปฏิบัติเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมของทีมมากกว่าการคิดต่อต้านหรือเจ้าคิดเจ้าแค้นผูกใจเจ็บ

ถ้าไม่เห็นด้วย และได้พยายามอย่างเต็มที่เต็มความสามารถแล้ว แต่ท้ายที่สุดมันไม่เวิร์คหรือผิดพลาด อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้ว่าทางเลือกนี้ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีและถูกต้องนัก แต่ก็ได้พัฒนาความสัมพันธ์หรือพอซื้อใจคนในทีมได้บ้าง ข้อนี้อาจจะมีทั้งข้อดีข้อเสีย บางคนอาจยอมประณีประนอมได้ บางคนไม่ได้ บางสถานการณ์ขัดตำแหน่งที่อยู่สูงกว่าไม่ได้ หรืออาจจะมีติดใจเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องงานอยู่ด้วย

แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็คือการพัฒนาตนเองรูปแบบหนึ่ง ถ้าเราทำทุกอย่างเต็มที่หรือเต็มความสามารถแล้วมันไม่สำเร็จ ก็แปลว่าที่เหลือก็อยู่นอกขอบเขตที่เราจะทำได้แล้ว

If you don’t love your work, you’re never gonna be great at it – Jeff Bezos

มีข้อมูลเพียง 70% ก็ติดสินใจเรื่องต่างๆได้แล้ว

บางครั้งที่ใครหลายคนมักจะตัดสินใจเรื่องต่างๆโดยรอให้มีข้อมูลเกือบ 100% หรือเอาง่ายๆคืออยากจะรู้แทบทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องนั้นแล้วค่อยตัดสินใจ หลายครั้งก็เป็นเรื่องดีและหลายครั้งมันก็ทำให้เราเสียโอกาสไป กฏการตัดสินใจของ Jeff Bezos นั้นมีอยู่ข้อนึงที่มักใช้และพูดถึงอยู่บ่อยๆคือการได้ข้อมูลเพียง 70% ของเรื่องนั้นก็เพียงพอให้ตัดสินใจได้แล้ว

ได้ข้อมูล 90% ของเรื่องนั้นทำให้เราสามารถตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ แต่การมีข้อมูลถึง 90% ก็อาจต้องใช้เวลามาก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อบริษัทได้ถ้าตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งช้า ไม่ว่าจะเป็นยังไม่ตัดสินใจเปลี่ยนตัวผู้บริหารเพราะอยากรอดูผลงานให้ครบปี หรือการรอเลือกโรงเรียนของลูกจนโควต้าเต็ม หรือการตัดสินใจซื้อของที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานแต่มีราคาแพง ฯลฯ การตัดสินใจทุกอย่างล้วนต้องใช้ข้อมูลแทบทั้งสิ้น

เกมแห่งโอกาสไม่รอคนที่ช้าในการตัดสินใจ เพราะโลกนี้มีคนที่พร้อมเสี่ยงเพื่อผลประโยชน์ที่ได้รับกลับมามากมาย ดูตัวอย่างได้ชัดเจนที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่องของ Cryptocurrency บางทียังไม่เข้าใจ ยังไม่แน่ใจ อยากจะรอดูไปก่อน สุดท้ายก็ได้เข้าไปซื้อตอนที่ราคาสูงแล้วจนอาจจะทำกำไรได้ยาก ก็เหมือนกับหุ้นที่เรารอแล้วรอเล่าว่ามันจะต้องตกลงมาถึงราคาที่หวังจะเข้าซื้อได้สักวันนึงแต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่

เหมือนกับ Nokia ที่เคยเป็นเจ้าตลาดมือถือ มุ่งหวังแต่พัฒนาเรื่องของฮาร์ดแวร์ แต่กลับรอให้มีข้อมูลมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆอย่าง โดยเฉพาะละเลยเรื่องประสบการณ์ผู้ใช้ จนเริ่มมีผู้เล่นใหม่เห็นช่องว่างและเริ่มเข้ามาทำตลาดตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่า สุดท้าย Nokia ก็เสียตลาดส่วนใหญ่ไป และช้าไปแล้วในการเปลี่ยนแปลงหรือจะกลับมาเหมือนเดิม จนกลายเป็นประโยคอมตะที่มักจะมีคนพูดถึงกันอยู่จนทุกวันนี้

“we didn’t do anything wrong, but somehow, we lost” – Nokia CEO

นอกจาก 3 แง่คิดเหล่านี้แล้ว ภายในหนังสือ คิดอย่าง Amazon (หรือ Think like Amazon) ยังมีแง่คิดในการทำธุรกิจอีกหลายอย่าง การเล่าเรื่องเป็นการเล่าเหตุการณ์ภายในของบริษัทตลอดระยะเวลาที่ผู้เขียน John Rossman ทำงานอยู่ใน Amazon ซึ่งหลายแง่คิดสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของกิจการก็อ่านได้ไม่ยาก

ยกตัวอย่างเทคนิคที่ใครหลายคนชอบพูดถึงกันก็เช่น การประชุมทีมพิซซ่า 2 ถาด, การประชุมโดยต้องเขียนข้อสรุป 6 แผ่นที่ต้องเรียงความให้ชัดเจนอ่านง่ายไม่ใช้ย่อหน้าหรือแบบข้อๆ(bullet) เป็นหนังสือที่อ่านง่ายและผมแนะนำให้ซื้อเก็บไว้อ่านตอนว่างครับ

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ