สิ่งที่เราเคยคิดว่าถูกในช่วงเวลาหนึ่ง อาจกลายเป็นสิ่งที่เราเองคิดว่าผิดในช่วงเวลาต่อมา
เราพูดถึงบุคคลที่สามกันอย่างไรบ้างครับ.. บางทีการที่เราพูดถึงบุคคลที่สามกับคนที่เราคุยด้วยอาจจะบ่งบอกได้ว่าเราเป็นคนอย่างไรก็เป็นได้ ยิ่งเมื่อตอนที่เรารู้สึกว่าคนที่เราคุยด้วยนั้น เราสามารถเล่าเรื่องหรือคุยด้วยอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา หรือเป็นคนที่เรารู้จักสนิทชิดเชื้อไม่ต้องกังวลว่าเราจะพูดถึงใครในแบบไหน
การกล่าวถึงบุคคลที่สามในช่วงขณะที่คนที่เราอ้างถึงไม่ได้อยู่หรือรับรู้ด้วย ทำให้เราสามารถเล่าเรื่องอะไรก็ได้ เรื่องที่ดีเกินไป เรื่องที่แย่เกินไป หรือเรื่องที่ไม่ได้เป็นความจริงไปเสียทั้งหมดก็ได้ และบางครั้งเราก็รู้ว่าคนที่เรากำลังคุยด้วยอาจจะเชื่อสิ่งที่เราเล่าทั้งหมด หรือเป็นเพื่อนพี่น้องคนใกล้ตัวเรา ที่ไม่ว่าเราจะเล่ายังไงก็ตาม เขาก็น่าจะเข้าข้างเรา
แต่การที่เราเล่าถึงบุคคลที่สามให้คนอื่นฟัง คนที่เรากำลังคุยด้วยก็อาจจะคิดเหมือนกันว่า อย่างคนอื่น เรายังเก็บมาเล่าได้ แล้วกับผู้ฟังอยู่ในขณะนั้นเอง ก็อาจจะถูกเก็บไปพูดลับหลังด้วยเหมือนกัน
เราสามารถรู้ความรู้สึกนึกคิดใครคนอื่นได้ไหมในเวลาที่เขาเล่าถึงบุคคลที่สาม ในเวลาที่เขาพูดถึงคนที่ไม่มีสิทธิ์โต้ตอบหรือให้ความเห็นใดๆ เป็นเพียงการฟังความข้างเดียว อาจจะเป็นจริง หรือไม่ได้เป็นจริงก็ได้.. เราอาจไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมดหรอก ว่าคนที่กำลังเล่านั้นเป็นคนอย่างไร แต่ที่เรารับรู้ได้ค่อนข้างแน่ชัดคือ ทัศนคติ ของผู้เล่านั้นเป็นไปในทิศทางไหน
การกล่าวยกย่องชื่นชมบุคคลอื่นเป็นเรื่องปกติที่ใครฟังก็รู้สึก positive ถึงแม้ว่าคำกล่าวอ้างนั้นอาจจะเป็นจริงแค่เพียงส่วนหนึ่ง แต่เราก็รู้สึกได้ว่าคนเล่าก็ดูมีทัศนคติต่อคนนั้นไปในทางที่ดี และคนเล่าอาจจะเป็นคนที่มีทัศนคติที่ดีในการใช้ชีวิตก็ได้
ต่างกับความโกรธ เกลียด ไม่ชอบ กล่าวอ้างถึงบุคคลอื่นให้เสียหาย คนฟังที่มีเหตุผลอาจจะคอยเบรค คอยบอกพยายามให้ใจเย็นหรือคิดในมุมอื่นดูก่อน แต่คนที่ให้ท้ายปกป้องโดยไม่ได้ใช้หลักของเหตุและผลอาจจะพากันทำให้เรื่องนั้นดูแย่กว่าสถานการณ์จริงก็เป็นได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การพูดถึงคนอื่นเชิงลบอาจจะมีเรื่องให้เราต้องคิดถึงมากกว่านั้น เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่ความคิดของผู้พูดกับผู้ฟังไม่ตรงกัน หรือมีปัญหากันในอนาคต ผู้ฟังเองก็อาจจะตกเป็นบุคคลที่สามของคนพูด ที่เขาจะนำไปกล่าวอ้างเชิงลบกับผู้ฟังคนอื่นได้เช่นกัน
ถ้าความจริงนั้นเป็นที่ประจักษ์กันอยู่แล้ว แล้วเราจะพยายามบิดเบือนมันไปเพื่ออะไรกัน เพื่อประโยชน์ที่อาจจะอยู่กับเราชั่วคราว? หรือเพื่อให้เราดูเป็นคนดีในช่วงเวลานั้น เมื่อเทียบกับคนที่เรากล่าวอ้างให้เขาดูเป็นคนร้าย? หรือเพื่อความอึดอัดที่เราอยากระบาย และไม่สามารถพูดกับคนเหล่านั้นได้ตรงๆ
คนพูดกับคนฟัง ใครถือเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบกว่ากัน?
หนังสือ Never Split The Difference เล่าว่า คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าคนที่พูดได้เปรียบมากกว่า เพราะเขาสามารถโน้มน้าวเล่าถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เป็นสิ่งที่ตนเองต้องการได้ แต่ผู้เขียนกล่าวว่า จริงๆแล้วเป็นผู้ฟังที่ได้เปรียบมากกว่า เพราะรับรู้สิ่งที่อีกฝ่ายคิด ได้ข้อมูลว่าเขาคนนั้นเป็นคนแบบไหน คิดเห็นอย่างไร ต่างกับอีกฝ่ายที่พูดอยู่อาจจะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับผู้ฟัง
สุดท้ายการพูดความจริงก็ย่อมเป็นเรื่องดี.. แต่การพูดความจริงก็ต้องมาดูกันว่าที่พูดนั้นเป็นมุมมองของใคร แล้วเรื่องที่เราพูดนั้นมีความรู้สึกส่วนตัว
หรืออัคติส่วนตัวรวมลงไปด้วยหรือเปล่า
—–
Quick judgement
บางทีมันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปแก้ต่าง หรือพูดให้อีกฝ่ายเข้าใจ ในเมื่อเขาลงหลักปักฐานเชื่อไปแล้วว่าเราเป็นคนอย่างไรเพียงแค่การได้ฟังคนอื่นเล่ามา แต่ในมุมของเราเอง เราอาจได้รู้ด้วยว่าคนนั้นเป็นอย่างไร.. จากการที่เขาตัดสินเรา ด้วยมุมมองเพียงด้านเดียว