เมื่อ 3 ปีที่แล้วผมตัดสินใจเรียนต่อโทบริหารเพราะใจอยากจะได้ลูกค้าเพิ่มเขามาที่บริษัทซอฟต์แวร์ แต่เรียนไปเรียนมากลับได้อะไรที่มากกว่านั้น สิ่งที่ได้และคิดว่าสำคัญที่สุดของการเรียนต่อในสาขาที่ไม่ใช่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์คือทักษะการสื่อสาร ซึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็น soft skill ที่อาชีพนักพัฒนาซอฟแวร์หลายคนต่างมองข้ามไป
เมื่อสร้างได้ก็ต้องขายเป็น
ผมเคยเขียนบทความที่ชื่อว่า สตาร์ทอัพ เหมือนการเผยแพร่ศาสนา การทำธุรกิจเหมือนกับการที่เราคิดอะไรบางอย่างได้แล้วลงมือสร้างมันขึ้นมา ทีนี้เมื่อเรามีความสามารถที่จะสร้างอะไรขึ้นมาได้แล้ว แต่ขาดทักษะการสื่อสาร สิ่งที่เหมือนมีค่านั้นก็อาจจะไม่มีคนเห็น ลองจินตนาการเหมือนเรากำลังขายเครื่องกรองน้ำที่ไม่รู้สรรพคุณว่าของเราดีกว่าหรือต่างกว่าคู่แข่งอย่างไร เวลาพูดอธิบายให้ใครฟัง เราเองก็ยังงงๆ ยังไม่มั่นใจ ซึ่งมันก็ถูกส่งต่อไปยังผู้รับฟังด้วยในเวลาเดียวกัน
ผมว่าทักษะการสื่อสารที่สำคัญคือ เราพอจะมีกึ๋นรับรู้ความรู้สึกหรืออารมณ์ของผู้ฟังในช่วงเวลานึงได้ดีแค่ไหน อะไรที่เราพูดออกไปแล้วคนฟังยังรู้สึกเคลือบแคลงใจ หรือต้องพูดอะไรเพื่อให้คนฟังอยากจะฟังสิ่งที่เราพูด เราอยากจะได้อะไร เราอยากจะสื่อสารอะไร แล้วเราต้องใช้อะไรในการโน้มน้าวเพื่อให้คนฟังยังอยากจะฟังสิ่งที่เราพูดต่อไป
ตอนเด็กเองก็ไม่ได้สนใจอะไรแบบนี้หรอกครับ
รู้แค่ว่าเราสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมา แล้วก็ไปหาใครสักคนที่เก่งในด้านนี้มาทำหน้าที่ของเขาไป หรือก็เพียงคิดว่าหน้าที่ของเราเสร็จแล้ว หน้าที่การถ่ายทอด การขาย การอธิบายเป็นหน้าที่ของคนอื่น ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีความคิดแบบผู้ประกอบการเลยแม้แต่น้อย
แต่สิ่งที่ค่อยๆทำให้เปลี่ยนไปคือการได้อยู่ท่ามกลางผู้คนมากหน้าหลายตา แล้วต้องทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดเป็นเวลานาน ถามว่าบางทีอึดอัดไหมก็ต้องตอบว่ามีอย่างแน่นอน ลองนึกภาพง่ายๆคือเราเป็นผู้เรียนที่อยู่ในห้องเรียนที่มีผู้เรียนประมาณ 50 คน และทุกคนไม่เข้าใจศัพท์ทางวิชาชีพของเราเลย สิ่งที่เราต้องอยู่และสื่อสารตลอดเวลาต้องเป็นการเปลี่ยนคำที่เราพูดทุกวันอย่างเคยชิน เป็นการอธิบายด้วยถ้อยคำที่คนทั่วไปเข้าใจได้แทน
มันเหมือนกับการที่เราต้องไปอยู่ต่างจังหวัดต่างพื้นที่ แล้วคนพื้นที่พูดคำเมืองหมด (สมมติว่าต้องไปใช้ชีวิตอยู่เชียงราย-เชียงใหม่เป็นเวลาปีสองปี) แล้วเราเป็นคนใต้ที่ต้องพยายามเลี่ยงการใช้ภาษาถิ่นของตัวเอง และต้องแปลงคำบางคำเป็นภาษากลางๆที่คนทั่วไปเข้าใจได้
สิ่งที่ผมทำก็เหมือนกัน ความตั้งใจคือการไม่ใช้ศัพท์เทคนิคเลยเมื่ออยู่ต่อหน้าสังคมใหม่ นานวันเข้าตัวเองก็เริ่มสงสัยว่า พื้นเพทักษะการเขียนโปรแกรมของเรานั้นด้อยลงหรือเปล่า บางครั้งเวลาไปคุยกับลูกค้าและทีมไอทีหลายที่เริ่มคิดว่าตัวเองสื่อสารเปลี่ยนไป
การออกบูธนี่ถือเป็นการทดสอบอย่างนึงที่ดีมากๆ
การเดินเรียกลูกค้าหน้าบูธเป็นเรื่องที่เราไม่เคยคิดจะทำเลยแม้แต่น้อย ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องเจอกับคนทั่วไปจริงๆ และพยายามอธิบายว่าสิ่งที่เราทำคืออะไรด้วยภาษาที่ฟังแล้วทุกคนสามารถเข้าใจได้และพอเห็นภาพในทันที ไม่เคยคิดว่าจะต้องออกไปเดินเรียกคนแปลกหน้าที่เดินผ่านไปมาให้ลองเล่นกิจกรรมหรือแวะเข้ามาที่บูธ เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าถ้ามีตัวเลือกสองอย่างว่าจะใช้ระบบ หรือต้องปฏิสัมพันธ์กับคนในการดำเนินงาน เราก็จะเลือกใช้วิธีที่ไม่ต้องทำอะไรกับคนน่าจะดูปลอดภัยและสบายใจกับตัวเองกว่า
การทำบริษัทนี่สอนอะไรเรามากเหลือเกิน ถ้าเราลงแรงลงใจกับมันทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้น สิ่งที่ทำให้รู้สึกท้อและเหนื่อยไม่ใช่เรื่องของงานที่เพิ่มขึ้นน้อยหรือมาก ยากหรือง่าย แต่เป็นความรู้สึกที่ต้องแบกไปในทุกวันว่าเมื่อไหร่สิ่งที่เราทำมันจะประสบผลบางอย่างดังที่ตั้งใจไว้ การทำบริษัทไม่ใช่แค่ความสนุกที่เอาไปพูดกับใครต่อใครได้ว่า ก็เปิดบริษัทเอง ทำธุรกิจของตัวเอง แล้วดูโก้ดูเท่กว่าคนที่ประกอบอาชีพอื่น
การทำบริษัทคือการที่ต้องผูกมัด สร้างพันธนาการทุกอย่างและพร้อมรับผิดชอบกับการกระทำที่เกิดขึ้น ทั้งๆที่ตัวเราเองอาจจะเกลียดทุกสิ่งอย่างดังที่กล่าวมาเลยก็ได้ มันอาจจะเป็นการที่ต้องทำสิ่งที่ไม่อยากทำในทุกๆวันที่ลืมตาตื่นขึ้นมา และอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้นอนไม่หลับแทบทุกคืนทั้งที่ร่างกายอ่อนล้าอยากจะพักเต็มที
การทำบริษัทที่แท้จริงจะหล่อหลอมเราให้เป็นคนที่รับผิดชอบมากขึ้น รู้จักหน้าที่ มีวินัย และคิดหน้าพะวงหลังเสมอกับการตัดสินใจทุกอย่างที่กำลังจะเกิด มันช่วยให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้มีค่าและมีความหมาย เราสามารถสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ให้กับตัวเองและสังคมด้วยสองมือและมันสมองของเรามาตั้งแต่แรกเริ่ม
ซึ่งแน่นอนว่ามันจะให้อะไรมาก.. กับคนที่จริงจังกับมันมากเท่านั้น