เมื่อเราไม่สบายใจ ก็จะหาวิธีเพื่อบรรเทาความรู้สึกเหล่านั้นในแบบที่แตกต่างกันออกไป บางคนหาของกินอร่อยๆเพื่อให้อารมณ์ดีขึ้น บางคนฟังเพลง บางคนออกไปเจอเพื่อนฝูงได้คุยได้ระบาย บางคนออกไปนั่งดื่มให้ผ่อนคลาย รวมไปถึงการเยียวยาในรูปแบบต่างๆที่ฟังดูแปลก แต่มีผลทางวิทยาศาสตร์อย่างการอาบน้ำ หรือการนอนพักผ่อน (ถ้าหลับลงอ่ะนะ)
เมื่อก่อนผมคิดว่าตัวเองสามารถเยียวยาความรู้สึกเจ็บปวดและเหน็ดเหนื่อย ได้โดยการหาที่เงียบๆแล้วอยู่คนเดียว แต่มีหลายครั้งที่รู้สึกว่าถึงแม้เราจะควบคุมสภาพแวดล้อมภายนอกได้ แต่ภายในก็ยังคิดเรื่องเดิมไม่ตก หยุดคิดไม่ได้ และพบว่าสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นเสมอไป
จนมาพบกับวิธีเยียวยาใหม่ซึ่งได้ผลกับตัวเองดีกว่ามาก นั่นคือการอ่านหนังสือ
เรียกได้ว่าถึงแม้ไม่มีเรื่องอะไรที่หนักใจ แต่ก็ยังเป็นสิ่งสุดท้ายที่ทำก่อนเข้านอนในแต่ละคืน ซึ่งก็พบอีกว่ามันมีข้อดีช่วยให้เราหลับแต่ละคืนได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อนมากขึ้นด้วย
ทำไม การอ่านหนังสือ จึงเยียวยาความรู้สึกได้?
ไม่ใช่หนังสือทุกเล่มจะเป็นหนังสือที่เราชอบ และใช่ว่าหนังสือที่คนอื่นแนะนำกันว่าดี จะดีเสมอสำหรับเราด้วยเช่นกัน มันก็เหมือนกับสี คุณชอบสีขาว ผมชอบสีดำ มันไม่ได้หมายความว่าใครจะผิดถูก มันแค่ความชอบที่ไม่เหมือนกันเท่านั้น
การอ่านหนังสือที่ตรงกับจริต ตรงกับสิ่งที่เราชอบ ตรงกับเรื่องที่เราสนใจ จะช่วยให้เราลืมเรื่องบางอย่างไปได้ ณ เวลาหนึ่ง และเปลี่ยนความสนใจไปยังสิ่งที่เรากำลังอ่านได้ไม่มากก็น้อย ยิ่งสำหรับคนที่พบเจอปัญหาที่เล่าให้ใครฟังก็รู้ว่าไม่ได้เปลี่ยนอะไรได้ ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น และคนอื่นก็ไม่สามารถแก้ไขจุดในสิ่งที่เราเป็นได้
การได้รับรู้เรื่องราวของคนที่ประสบพบเจอปัญหาคล้ายกัน จะช่วยให้เรารู้สึกว่า เราก็ไม่ได้เป็นคนเดียวที่ต้องเจอปัญหาแบบนี้ ยังมีคนอื่นอีกมากมาย หรืออย่างน้อยคนเขียนหนังสือคนนี้ที่ก็ยังเจอปัญหาแบบเดียวกันและผ่านมันมาได้
การอ่านหนังสือเหมือนการสะท้อน
มันช่วยให้เราเข้าใจว่าโอเคนี่คือปัญหา คนที่เคยทำแบบเดียวกับเราก็เจอปัญหาคล้ายคลึงกัน มันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าเราไม่ได้เจอปัญหานี้คนเดียว มีคนผ่านไปได้และเราก็จะผ่านไปได้เช่นเดียวกัน การสะท้อนบางครั้งช่วยให้เราสบายใจขึ้นมาได้โดยการรับรู้อยู่ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และพยายามหาวิธีแก้เพื่อให้ปัญหานั้นหายไป
หนังสือที่ดีจะให้มากกว่าความสบายใจ มันจะให้ทั้งความรู้และข้อคิดบางอย่าง มันช่วยให้เราเปิดมุมมองที่กว้างขึ้นถึงแม้ว่าเราจะอยู่กับที่แล้วไม่ได้ไปไหนเลยก็ตาม
เริ่มหาหมวดหนังสือที่ตัวเองชอบ
ไม่ใช่ทุกคนจะชอบหนังสือเรื่องธุรกิจ ไม่ใช่ทุกคนที่จะโปรดปรานหนังสือจิตวิทยา การเงิน หรือเศรษฐศาสตร์ สำคัญคือเราหาหมวดหนังสือที่เราชอบได้ไหม รู้ตัวเองหรือเปล่าว่าแท้จริงแล้วเราชอบอ่านหนังสือประเภทไหน บางคนชอบอ่านนวนิยาย ซึ่งมีความหนา ได้ฝึกสมาธิการจดจ่อ และช่วยเติมจินตนาการในหลายๆเรื่อง
Logic will get you from A to B. Imagination will take you everywhere – Albert Einstein
บางคนชอบอ่านหนังสือปรัชญา ช่วยให้เราเข้าใจความหมายของการใช้ชีวิต เข้าใจหลักการคิดการปฏิบัติ และช่วยให้เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของตัวเองมากขึ้น
The man who asks a question is a fool for a minute, the man who does not ask is a fool for life – Confucius
เราจะไม่มีทางรู้ได้แน่ชัดเลยว่าเราชอบหนังสือประเภทไหน ถ้าเราไม่เปิดใจลองอ่านมันหลายๆประเภท วันดีคืนดีเราอาจจะชอบหนังสือวิทยาศาสตร์การทดลอง หรือกายวิภาคก็เป็นได้ สิ่งที่เราเคยคิดว่าถูกในช่วงเวลานึง อาจจะเป็นสิ่งที่เราคิดว่าผิดในช่วงเวลาต่อมาก็ได้
ความรู้สึกที่ตอนไหนๆ ก็ไม่เหมือนกัน
ผมชอบอ่านหนังสือประเภทธุรกิจ บางเล่มมันอ่านแล้วขมขื่นมาก อ่านไปกี่ย่อหน้าก็เจอแต่ปัญหา ปัญหามาไม่รู้จักจบจักสิ้น แต่มันทำให้เรารู้ว่าทุกปัญหาก็มีทางแก้ไข ทุกปัญหามาพร้อมการตัดสินใจ และผู้เขียนเคยตัดสินใจอะไรไป ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นยังไง แล้วเราได้เรียนรู้อะไรจากการตัดสินใจนั้นๆ
บางครั้งอ่านแล้วรู้สึกกินใจ ทำไมการอ่านหนังสือเล่มนี้มันถึงได้ตรงกับช่วงเวลาและความเจ็บปวดที่เราเจออยู่ในตอนนี้เลย มันทำให้เรารู้สึกมีพลัง มีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบ เลิกคิดแบบเด็กแล้วโตขึ้นด้วยการตัดสินใจเสียที
บางครั้งเราก็กำลังคิดว่า.. เรากำลังเติบโตขึ้นด้วยประสบการณ์ของคนอื่น ถึงแม้ว่าเราจะไม่เคยได้พบเจอประสบการณ์นั้นจริงเลยก็ตาม