ทำไมเราถึงตัดสินใจได้ไม่ดีนัก แม้ตอนที่เราเองก็รู้ทั้งรู้ว่าการตัดสินใจเรื่องนั้นอาจจะไม่ใช่การเลือกที่ถูกต้อง หรือดีที่สุด
โดยส่วนตัวแล้ว ผมชื่นชอบเรื่องของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมากๆ เรียกได้ว่าเป็นความสนใจใคร่รู้ที่จะหาคำตอบการย้อนแย้งในการตัดสินใจของมนุษย์ ทำไมใครบางคนถึงได้ตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด ถูกต้องเหมาะสม และในเวลาที่ยอดเยี่ยม และทำไมอีกหลายคนถึงตัดสินใจได้ค่อนข้างแย่ ทั้งที่ตัวเองก็รู้ทั้งรู้เกี่ยวกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการตัดสินใจครั้งนั้นๆ
แล้วถ้าคนเราไม่รู้ตัวล่ะ ว่าตัวเองกำลังตัดสินใจด้วยความรู้สึกลึกๆ ที่เหมือนจะเป็นเหตุผลแต่ไม่ใช่เหตุผล หรือไม่รู้ตัวเลยว่าการตัดสินใจที่ทำอยู่นั้นเป็นเรื่องที่ผิดไม่ควรทำ เราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เราจะสร้างโมเดลการตัดสินใจ หรือเรียนรู้จากการตัดสินใจของคนอื่นด้วยวิธียังไงได้บ้าง
การสังเกตการณ์ ถือเป็นหัวใจที่สำคัญเรื่องหนึ่งเลยของการเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรม มนุษย์เราเฝ้าสังเกตทั้งคนและสัตว์เพื่อเรียนรู้ถึงแรงจูงใจในการกระทำ ปัจจัยแวดล้อมที่เข้ามากระทบ และสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจากสิ่งที่ถูกเฝ้าสังเกตอยู่ หนึ่งในอาจารย์(และเป็นทั้งนักเขียน) ที่ผมชื่นชอบคนนึงเลยคือคุณ Dan Ariely ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ทำวิจัยและเฝ้าสังเกตการณ์พฤติกรรมของมนุษย์มาอย่างยาวนาน
งานวิจัยและการทดลองหลายอย่างมีเป้าหมายเพื่อเรียนรู้ว่าทำไมมนุษย์ถึงมีพฤติกรรมในรูปแบบต่างๆ ทำไมสิ่งที่เราพูดและทำถึงย้อนแย้ง หรือแม้กระทั้งสิ่งที่เราทำไปนั้นบางอย่างไม่ได้ข้องเกี่ยวกับเหตุและผลเลย แต่มาจากจิตใต้สำนึกที่เราเองบางครั้งก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ การได้อ่านหนังสือหลายเล่มของคุณ Dan ทำให้เราได้รับรู้แง่มุมแปลกๆ ที่มนุษย์นั้นปฏิบัติและพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน โดยมีงานวิจัยและผลการทดลองรองรับพร้อมสรุปด้วยคำง่ายๆให้ได้ความรู้ไปปรับใช้ด้วย
หนึ่งในหนังสือเล่มนึงที่ผมเพิ่งอ่านจบไปของแกคือ “อ่านทะลุความคิด ด้วยจิตวิทยาแห่งการโกง” หรือ The (honest) truth about dishonesty เอาจริงๆชื่อหนังสือภาษาไทยหลายเล่มของแกก็แปลมาแบบไม่ค่อยน่าหยิบมาอ่านเท่าไหร่ แต่ถ้าเห็นชื่อผู้เขียนแล้วส่วนใหญ่ก็การันตีได้เลยว่าเนื้อหาภายในเป็นประโยชน์ค่อนข้างแน่นอน
มีตอนนึงของหนังสือที่ผมจำได้และอยากจะเก็บมาเขียนครับ
แกเขียนว่า วันนึงทำกุญแจเข้าบ้านหาย เลยต้องเรียกช่างมาทำลูกกุญแจใหม่เพื่อให้เข้าบ้านได้ ก็เสียเวลาหาช่างและรอช่างกว่าจะมาก็นานพอสมควร แต่พอช่างมาถึงแล้วก็สะเดาะแม่กุญแจได้ภายในเวลาไม่ถึง 2 นาที เขาเริ่มสงสัยแล้วว่าช่างที่ทำกุญแจส่วนใหญ่นี่สามารถงัดเข้าบ้านทุกคนได้เลยหรือเปล่า เลยถามช่างทำกุญแจไปตรงๆ
ด้วยความเลิ่กลักและสนใจว่าทำไมถึงสะเดาะแม่กุญแจได้เร็วขนาดนั้น ช่างก็ตอบกลับมาอารมณ์ประมาณว่า “จริงๆแล้ว ตัวล็อกอาจจะไม่ได้ป้องกันเราจากขโมยได้หรอก คนจะขโมยยังไงมันก็หาวิธีได้จนได้ แต่ตัวล็อกหรือแม่กุญแจเนี่ยส่วนใหญ่ 95% คือป้องกันเราจากคนทั่วไปอย่างเราๆนี่แหละ ที่อาจจะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมให้คิดไม่ดีมากกว่า”
มันทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาได้ถึงเรื่องศีลธรรมหลายอย่างในการตัดสินใจ คนเราอาจจะมีเหตุผลล้านแปดที่ตัดสินใจเรื่องบางเรื่อง และมีปัจจัยหลายอย่างที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะทำให้เปลี่ยนการตัดสินใจไปด้วยในทุกช่วงเวลา ถ้าสมมติใครบางคนเจอเรื่องแย่ๆมาทั้งวัน หรือรู้สึกว่าวันนั้นเป็นวันที่หนักมากๆ เราก็อาจจะตัดสินใจเรื่องต่างๆได้ไม่ดีนัก และอาจจะพลาดโอกาสหรือสูญเสียอะไรที่สำคัญตามไปด้วยจากการตัดสินใจที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นๆ
การศึกษาเรื่องการตัดสินใจและปัจจัยแวดล้อมเป็นเหมือนช่วยให้เราสามารถสร้างเกราะขึ้นมาหนึ่งชั้น ซึ่งอาจจะเป็นแค่ชั้นบางๆ ครอบความรู้สึกของเราไว้ก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องอะไรบางอย่างก็ได้ เช่นถ้าเราเจอวันที่แย่มาบ้าง เราอาจจะฉุกคิดขึ้นมาแว๊บนึงว่าจากการที่เราเคยได้เรียนรู้ได้อ่านการทำวิจัย หรือประสบการณ์ของคนอื่นมา อาจจะไม่เหมาะที่จะตัดสินใจตอนนั้นๆ มันเหมือนกับการตัดสินใจของเรามีชั้นอีกหนึ่งชั้นครอบเอาไว้ให้เราคิดเยอะขึ้นมากกว่า
ซึ่งเราก็คาดหวังว่าตัวเองเราจะนำสิ่งที่ได้อ่านได้เรียนรู้นี้ไปใช้ประโยชน์กับตัวเองในอนาคต หัดมีเหตุผลมากขึ้นในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ และระลึกอยู่เสมอว่าการตัดสินใจเรื่องต่างๆ มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว มันควรจะยึดเอาเหตุและผลเป็นที่ตั้ง หรือความถูกต้องเป็นที่ตั้ง
สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น.. สิ่งที่ผิดก็คือผิด แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น
คำพูดของ ศ.สังเวียน อินทรวิชัย ยังเป็นที่จดจำให้นึกถึงทุกครั้งเวลาที่ตัวเองต้องตัดสินใจเรื่องยากๆ เราเองก็พยายามจะเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ทำตัวให้มีวุฒิภาวะมากขึ้นท่ามกลางสิ่งเร้ามากมายที่มีเพิ่มขึ้นด้วยในปัจจุบัน ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้สนุกกับการใช้ชีวิต แต่กลับเป็นสิ่งที่ตัวเองภาคภูมิใจและยึดถือเอาไว้อย่างเหนียวแน่น
หนังสือเล่มที่กล่าวถึงไปนี้มีหลายอย่างที่น่าสนใจครับ ทั้งเรื่องของการใช้ของแบรนด์เนมปลอมจะมีผลกับผู้ที่ใช้และผู้ที่มองเข้ามาอย่างไร และจะกระทบต่อวงการแฟชันโดยรวมได้ยังไง ไปจนถึงการคดโกงเรื่องเล็กๆน้อยๆ โดยมีปัจจัยอื่นเสริม เช่นถ้าเรานั่งสอบในสถานที่คุ้นเคย หรือรู้จักกับคนคุ้มสอบดี เราอาจจะมีเจตนาคดโกงมากขึ้นไหมเมื่อมีโอกาส หรือแม้แต่กระทั่งผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจจะทำให้เราหน้ามืดตามัวไปพักนึง ตัดสินใจเอนเอียงได้อย่างไร
ถือเป็นหนังสืออีกเล่มที่อ่านสนุกและควรซื้อเก็บเอาไว้ ใครที่เป็นคนชอบอ่านเกี่ยวกับจิตวิทยาความรู้เรื่องทั่วไป ข้อมูลที่เขียนส่วนใหญ่มาจากการค้นคว้า การสังเกตุ และงานวิจัย น่าจะชอบหนังสือเล่มนี้เหมือนกันกับผม