สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นแพ้สงครามและสภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำอย่างรุนแรง การเดินทางจากเมืองใหญ่คือโตเกียวไปโอซาก้าต้องเดินทางด้วยรถไฟ มีการขนส่งสิ่งของเครื่องใช้รวมไปถึงวัตถุดิบ อาหาร และผู้คน ด้วยระยะทางกว่า 500 กิโลเมตรผ่านภูมิประเทศแบบป่ามีภูเขาทำให้การเดินทางอาจจะใช้เวลามากถึง 20 ชั่วโมงต่อเที่ยว
ผ่านไปร่วม 10 ปี ญี่ปุ่นได้พัฒนารถไฟหัวกระสุนได้เป็นครั้งแรกซึ่งทำเวลาได้สูงสุดถึงเกือบ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในช่วงเวลานั้น ทำให้ย่นระยะเวลาในการเดินทางเหลือไม่ถึง 4 ชั่วโมง การเดินทางที่สามารถลดระยะเวลาได้มากขนาดนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอื่นๆได้อย่างต่อเนื่อง และถือเป็นตัวแปรสำคัญที่พัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างรวดเร็วจนกลายมาเป็นประเทศที่มีอันดับเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับโลกจวบจนถึงปัจจุบัน (ปัจจุบันเศรษฐกิจของญี่ปุ่นใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจาก สหรัฐ และ จีน)
คำถามคืออะไรที่ทำให้ญี่ปุ่นฟื้นตัวได้รวดเร็วขนาดนั้นหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
ไม่สิ ต้องตั้งคำถามว่า ญี่ปุ่นพัฒนารถไฟหัวกระสุนขึ้นมาได้อย่างไร ในขณะที่รถไฟทั่วไปสามารถทำความเร็วได้ประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในช่วงเวลานั้น
ลองนึกภาพถึงการตั้งบริษัททำธุรกิจใหม่ดูก็ได้ครับ หากสมมติว่าโดยปกติแล้วเราทำยอดขายต่อเดือนได้ 1,000 บาท จะทำอย่างไรให้ยอดขายต่อเดือนเพิ่มขึ้นมาเท่าตัวนึง หรือสองเท่าตัวจากเดิมที่เราสามารถทำได้ คำตอบแต่ละคนอาจจะต่างกันไป บ้างก็ว่าให้พนักงานทำงานหนักขึ้น ขยันขึ้น (ซึ่งก็อาจจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของพนักงาน) บ้างก็ว่าให้ลงทุนเพื่อใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่า สามารถทุ่นแรงบางอย่างและทำงานได้นานกว่า เร็วกว่า (ก็ต้องแลกมาด้วยเงินทุนที่ใช้ลงไปในตอนแรก)
แต่วิธีของญี่ปุ่นตอนนั้นแทบจะไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้เงินเสียเท่าไหร่ เพราะเศรษฐกิจเพิ่งพังจากสภาวะสงครามมา เท่าที่ทำได้อย่างแรกก็น่าจะเป็น “การตั้งเป้าหมาย”
จากเดิมที่รถไฟสามารถวิ่งได้ประมาณ 90 ~ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะให้มาวิ่งได้เกือบ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในช่วงเวลานั้นถือเป็นงานที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าใช้วิธีการแบบเดิมๆ ทีมวิศวกรเริ่มคิดวิเคราะห์ถึงปัจจัยและความเป็นไปได้มากมายที่สามารถเพิ่มความเร็วในการเดินทาง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเส้นทางจากลัดเลาะภูมิประเทศให้กลายมาเป็นเส้นทางตรงเพื่อที่รถไฟจะสามารถทำความเร็วขึ้นไปได้คงที่ไม่ต้องแตะเบรกเพื่อชะลอความเร็วในการเลี้ยว
แรกๆ หลายคนก็บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้รถไฟสามารถเดินทางได้เร็วขนาดนั้น ไหนจะเรื่องความปลอดภัย ความเป็นไปได้ของเส้นทาง และคุณภาพรางที่ใช้อยู่ดังเดิม
แต่เมื่อค่อยๆคิดดัดแปลง ทดลองแต่ละปัจจัยไปทีละอย่าง ก็ได้ผลลัพธ์ที่สามารถเพิ่มความเร็วในการเดินทางได้ทีละเล็กละน้อย ท้ายที่สุดเวลาผ่านไปสิบปี รถไฟหัวกระสุนก็ถูกผลิตขึ้นมาบนรางที่ถูกพัฒนาใหม่ เส้นทางที่ลอดใต้อุโมงค์ภูเขาจวบจนสามารถทำความเร็วได้ตามแผนที่วางเอาไว้
ไม่ต่างอะไรกับการทำธุรกิจเลย ถ้าอยากได้คนใช้งานมากขึ้น หาลูกค้าได้มากขึ้น และทำยอดขายได้มากขึ้น เราก็ต้องตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเอาไว้ตั้งแต่แรก ถึงแม้มันอาจจะดูว่าเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก แต่ถ้า commit ที่จะทำตามเป้าหมายตั้งแต่วันแรกที่เริ่ม ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านไปเราก็จะพยายามหาหนทางใหม่ๆ อยู่ตลอดเพื่อให้ใกล้เป้าหมายมากขึ้นในแต่ละวัน
มีคนเคยบอกไว้ว่าถ้าอยากหาเงินเก่ง ให้ลองเป็นหนี้
เพราะเมื่อเราเป็นหนี้ เราจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่เราไม่เคยคิดถึงมันมาก่อน หรือความประหยัด ความทะเยอทะยานในการหาเงินจะเพิ่มขึ้นมาโดยที่เราเองก็ไม่รู้ว่าเราจะต้องมาทำแบบนี้ (แล้วก็อาจจะแปลกใจเพราะบางทีเราก็อาจทำมันได้ดีเสียด้วย) คุณอาจจะเป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยพูดจาอะไรกับใคร ทำงานคนเดียวเป็นประจำเพราะมันคือคุณ และทำให้คุณสบายใจ
แต่วันดีคืนดีคุณต้องเปลี่ยนด้วยเหตุผลที่เลี่ยงไม่ได้ หรือต้องทำอะไรบางอย่างด้วยความจำเป็น ยกตัวอย่างเช่นต้องหาเงินมารักษาพยาบาล, ผ่อนบ้าน ฯลฯ ท้ายที่สุดคุณจะเริ่มเข้าหาลูกค้า พูดเยอะขึ้น ออกไปเจอลูกค้าบ่อยขึ้น ยอมเปลี่ยนตัวเองและทำงานร่วมกับคนอื่น หรือแม้แต่เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตประจำวันไปอย่างสิ้นเชิงเพื่อให้เข้าใกล้เป้าหมายที่วางเอาไว้
คนเราส่วนใหญ่มักจะประเมินความสามารถของตัวเองต่ำเกินไป คิดว่าตัวเองทำเรื่องบางอย่างไม่ได้ เพราะมันดูไกลเกินความเป็นจริง ไกลเกินกว่าสิ่งที่ตัวเองรู้เชี่ยวชาญ และทำอยู่ได้เป็นประจำ จริงอยู่ไม่มีใครชื่นชอบความลำบาก และอาจไม่มีใครชื่นชอบความไม่แน่นอน แต่มันอาจจะช่วยให้เราก้าวข้ามความเป็นเราไปอีกขั้น หรืออาจจะทำให้เรากลายเป็นอีกคนนึงไปเลยก็เป็นไปได้
อย่างที่คุณ Neale Donald Walsch เคยกล่าวเอาไว้ว่า
“Life begins at the end of your comfort zone”
หรือการใช้ชีวิตที่แท้จริงจะเริ่มหลังจากที่คุณได้ออกจากจุดที่เป็น comfort zone ไปแล้ว