There are a thousand excuses for every failure but never a good reason – Mark Twain
ช่วงกลางคืนระหว่างขับรถกลับจากมหาลัย ก็เปิดเพลงฟังอย่างปรกติเหมือนเคย แต่หลังๆ มานี้ไม่ค่อยได้ฟังเพลงไทยสักเท่าไหร่ เลยเปิด Spotify แล้วลองเลือก playlist เพลงไทยขึ้นมาฟังก็เพลินดีเหมือนวันวาน แต่ระหว่างเพลงที่ไม่รู้จักเล่นไปเรื่อยๆ เพลงๆ นึงก็ร้องขึ้นมาประมาณว่า
“เธอเรียกว่าเหตุผล หลายคนเรียกมันว่าข้ออ้าง”
ก็ฉุดคิดขึ้นมาได้แว้บนึง เริ่มสงสัยถามตัวเองต้องแต่ตอนนั้นว่าคำสองคำนี้ มันมีบริบทที่คล้ายคลึงกันมาก แต่ทำไมให้ความรู้สึกต่างกันราวฟ้ากับเหว จึงเก็บไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งเว็บไซต์ในไทย และต่างประเทศ ก็พอมีคนที่สงสัยเหมือนกันอยู่บ้าง หลังจากอ่านมาสักพัก หาข้อมูลประกอบอยู่พอสมควร ก็เลยคิดว่าอยากจะเขียนบทความเรื่อง “เหตุผล” และ “ข้ออ้าง” สักหน่อย คุณผู้อ่านอาจจะคิดว่า นี่มันอะไร เรื่องที่ดูเหมือนไร้สาระแค่นี้จะมีอะไรให้เขียน หรือทำไมต้องเสียเวลาเก็บมาบรรยายขยายความด้วย
ผมเข้าใจนะ แต่ส่วนตัวคิดว่าความจริงแล้วมันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น มากกว่าการพูดคำสองคำนี้ออกไป ในมุมนึงหากเราเป็นคนที่โดนใครสักคนพูดว่า คำที่เราเอ่ยออกมาคือเหตุผล หรือคือข้ออ้าง มันก็เปลี่ยนสถานการณ์ต่อจากนั้นพอสมควรเหมือนกัน
เพลงที่ผมได้ฟังชื่อ ไม่มีเหตุผล ของ MARINA ครับ และที่จะเขียนต่อไปนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเพลงสักเท่าไหร่ แต่จะพยายามเขียนโดยใช้หลักของเหตุและผลมาอธิบายความแตกต่างของสองคำนี้
จากที่ค้นหาข้อมูลมาหลายที่ ก็ได้ข้อมูลที่น่าจะเข้าท่าเข้าทีอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่แข็งแรงมากพอที่จะสรุป และอธิบายความชัดเจนของสองคำนี้ได้อย่างตรงประเด็นเสียทีเดียว บางคนบอกว่า เหตุผล และข้ออ้างต่างกันที่ความรับผิดชอบ ตัวอย่าง นายบาสถามนายแบงค์เพื่อนของเขาว่าทำไมเมื่ออาทิตย์ที่แล้วถึงไม่มาเรียน
- “เท้าแพลง ต้องหยุดอยู่บ้าน หมอไม่ให้ออกเดินเยอะ”
- “ช่วงนี้ไม่ค่อยมีเวลาเลย”
ถ้าเราเป็นบาส เราก็คงจะรู้เป็นนัยๆ ว่าประโยคไหนคือข้ออ้าง และประโยคไหนคือเหตุผลใช่ไหมครับ คือถ้าแบงค์เท้าแพลงจริง ก็น่ายังมีอาการอยู่ และเราเองก็คงจะเห็นใจ ถือเป็นเหตุผลที่ไม่มาเรียนไป แต่ถ้าแบงค์บอกว่า ไม่มีเวลา เราก็คงไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเมื่ออาทิตย์ที่แล้วมันขี้เกียจไม่อยากมาเรียน อาจจะไปเที่ยว หรืองานหนักจนไม่มีเวลาจริงๆ ซึ่งประโยคหลังมักจะฟังดูเป็นข้ออ้างมากกว่าเหตุผล
จนบางทีก็อดคิดไม่ได้ว่าการอ้างเหตุผล ต้องมีหลักฐานมารองรับ หรือสนับสนุนกันแน่?
ส่วนตัวผมว่าความรับผิดชอบยังมีพลังไม่มากพอที่จะแบ่งแยกคำสองคำนี้ออกจากกันได้ หลังจากอ่านอะไรต่อไปสักพัก ก็เจอความเห็นนึงบอกว่า เหตุผล เมื่อฟังแล้วจะเป็น positive และข้ออ้าง เมื่อฟังแล้วจะเป็น negative หรือให้อธิบายง่ายๆ คือ ถ้าอะไรก็ตามที่เป็นเหตุผล เรื่องที่เกิด หรือคิดต่อนับจากนั้นจะให้ความรู้สึกในแง่บวก และข้ออ้างจะตามมาด้วยความรู้สึกในแง่ลบ
- เท้าแพลง = โอเค เข้าใจ เห็นใจ เป็นเหตุผล (positive)
- ไม่ค่อยมีเวลา = จริงหรือ? แล้วเมื่อไหร่? ทำไมอะ? สงสัย ฯลฯ (negative)
แล้วการที่พนักงานมาทำงานสาย เจ้านายถามว่าทำไมมาช้า บริบทมันจะเหมือนกันหรือเปล่า? ถ้าพนักงานตอบว่า “เมื่อเช้าป่วยอาการไม่ค่อยดีครับ” กับ “รถติดมากเลยครับวันนี้” ถ้าพูดตามตรง มันก็ฟังดูแยกได้ยากระหว่าง เหตุผล และ ข้ออ้าง อยู่ดีใช่ไหมล่ะครับ
หรือที่จริงแล้วมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับประโยคที่พูดออกมา?
การตีความ หรือบอกว่าอะไรคือเหตุผล และข้ออ้าง มันอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับประโยคที่พูด หรือหลักฐานที่มีก็ได้ ผมว่าจริงๆ แล้วมันน่าจะอยู่ที่ผู้ฟังมากกว่าว่าจะตีความหมายออกมาในรูปแบบไหน เพราะในความจริงมีหลายครั้งที่เรามักจะเอนเอียงความรู้สึกไปให้คนใดคนหนึ่งมากกว่าคนใดคนหนึ่งอยู่เสมอ
- นายบาสทำงานดี ขยัน เก่ง วันนี้มาสายบอกหัวหน้าว่ารถติด ถ้าเราเป็นหัวหน้า อาจจะโอเคเออออไม่ได้ว่าอะไรมาก
- นายแบงค์ค่อนข้างขี้เกียจ งานไม่ค่อยเรียบร้อย วันนี้มาสายบอกหัวหน้าว่า ป่วยช่วงเช้า ถ้าเราเป็นหัวหน้า อาจจะตะขิดตะขวงใจ และสงสัยบ้าง
ถ้าเหตุผล หรือข้ออ้างไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ที่พูด แต่ขึ้นอยู่กับผู้ฟัง
ถ้าบุคคลที่สอง เปิดใจ รับฟังเรื่องราวจากบุคคลแรก เรื่องนั้นก็น่าจะเป็นเหตุผล แต่ถ้าบุคคลที่สอง ไม่เปิดใจ รับฟังเรื่องราวจากบุคคลแรก เรื่องนั้นก็น่าจะเป็นแค่ข้ออ้าง
แล้วโลกนี้มีประเภทของอคติอยู่มากมายที่สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ถ้าผู้ที่เราต้องการให้รับฟัง มีอคติกับตัวเรา หรือใช้อารมณ์ในการตัดสินใจในขณะนั้น คำพูดที่พูดไปส่วนใหญ่ก็เป็นข้ออ้างทั้งนั้น ถึงแม้ว่าเราเองจะมีเหตุผล หรือความเป็นจริงมากมาย แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้ช่วยอะไร ถ้าคนฟังไม่ยอมเปิดใจ