ทริปไนซ์เดย์ กับการเดินทางครั้งใหม่

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว(ปีค.ศ. 2016) ผมเริ่มตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมาครั้งแรกคือ จินดาธีม จะเรียกว่าตั้งบริษัทก็ไม่ถูกนักเพราะตอนแรกเริ่มตั้งแต่เป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่มีเงินจดทะเบียนกับกระทรวงพานิชย์เพียง 1,000 บาทถ้วน ซึ่งผมเคยเขียนเริ่มการจดทะเบียนห้างฯ ด้วยเงินจดทะเบียน 1,000 บาทไว้นานแล้วที่บทความ ทุนจดทะเบียน 1,000 บาท และบทความที่เกี่ยวกับการเริ่มธุรกิจซอฟแวร์ของตัวเองในชื่อจินดาธีมในบทความ วันที่เราทุ่มให้จินดาธีม

หลังจากตั้งธุรกิจ เปลี่ยนแปลงแปรสภาพจากห้างหุ้นส่วนมาเป็นบริษัทจำกัด ก็ผ่านร้อนหนาวลุ้มลุกคลุกคลานมาเยอะมากตลอดเวลาที่ผ่านมา มันเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากกว่าเราได้เรียนรู้มาจากที่อื่นหลายอย่าง จนทำให้เราสามารถพูดกับใครๆ ได้เลยว่าการมีบริษัทมันไม่ได้ยากหรอก การทำธุรกิจที่แท้จริงเนี่ยยากกว่าเยอะ ผมเองเป็นคนที่อยากรู้ด้วยว่าถ้าเราทำแต่ละสิ่งอย่างด้วยตัวเองมันจะได้อรรถรสมากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่ตั้งบริษัทมาจวบจนทุกวันนี้เลยทำทุกอย่างของบริษัทด้วยตัวเองหมดไม่ว่าจะเป็น เอกสาร งานธุรการ เขียนสัญญา ทำบัญชีรายเดือน ไปจนถึงเขียนโปรแกรม ทำการตลาด และดูแลลูกค้าหลังการขาย

มันเป็นเรื่องที่เหนื่อยมากก็จริง แต่มันก็สอนอะไรเรากลับมามากด้วยในเวลาเดียวกัน

ผ่านมาจนระบบทุกอย่างเริ่มอยู่ตัว เราไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดเหนื่อยยากกับการมีบริษัทเหมือนวันแรกๆ ที่ก่อตั้งมันขึ้นมาแล้ว ผมก็เริ่มไปทำโปรเจคอื่นเพิ่มเติม เริ่มเรียนต่อโท ทำอะไรหลายอย่างไปพร้อมกันโดยที่เวลาส่วนใหญ่ก็ยังให้บริษัทอยู่เหมือนเดิม มาถึงกลางปี 62 ก่อนจบโทก็เริ่มรู้สึกว่าเราน่าจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันของตัวเอง ทำระบบของตัวเองแทนที่จะทำระบบให้ลูกค้าอย่างเดียวบ้าง เลยทำโปรเจคเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และพัฒนาซอฟแวร์ขึ้นมาตัวนึงเพื่อเริ่มประสบการณ์ใหม่ให้กับตัวเอง

tripniceday.com

ทริปไนซ์เดย์ แพลตฟอร์มให้บริการวางแผนการเดินทางแบบครบวงจร

ผมชวนเพื่อนพี่น้องที่เป็นคนรู้จักเคยทำงานด้วยกันมาก่อตั้งทริปไนซ์เดย์โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเป็นระบบที่ให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวแบบครบวงจรตั้งแต่หาข้อมูล เริ่มวางแผนการเดินทาง ชำระค่าบริการต่างๆ และการนำทาง เราไม่ได้อยากจะเป็นแค่บริษัทที่ให้บริการเฉพาะแค่ข้อมูลการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เราอยากจะให้มันเป็นแพลตฟอร์มแรกที่คนนึกถึงเวลาไปเที่ยว จึงเป็นที่มาของสโลแกนของเรา “ทริปไนซ์เดย์ เวลาไปเที่ยว”

มีใจอย่างเดียวทำธุรกิจไม่รอด

ต้องมีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมที่เรากำลังกระโดดเข้าไปเล่นด้วย ใครอยู่ในตลาดนี้บ้าง ตลาดนี้มีแนวโน้มอย่างไร แล้วใครที่จะเป็นผู้ใช้งานหลักที่จะช่วยสนับสนุนให้เราไปรอดในวันแรกๆ ที่เริ่มทำธุรกิจ โชคดีที่ผมเรียนโทเกี่ยวกับการบริหาร เลยได้พื้นฐานการหาข้อมูล การทำ research โดยมีอาจารย์หลายท่านคอยติติงเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ แต่ถ้าเป็นหลักการตามวิชาการอย่างเดียวก็คงไม่พอ ถ้าไม่ได้ลองผิดลองถูกอะไรใหม่เองบ้างเลย

หลังจากทำ research มาร่วม 3 เดือน เขียน paper ออกมาร้อยกว่าหน้า ก็เริ่มลงมือเขียนโปรแกรมตามแบบแผนที่วางเอาไว้ พอตัวเว็บไซต์เริ่มใช้งานได้ ก็ตัดสินใจเข้าโครงการ NIDA Accelerator เพื่อหาที่ปรึกษาผู้มีประสบการณ์มาช่วยแนะนำว่าเส้นทางต่อจากนั้นควรเป็นอย่างไร อะไรที่ควรจัดลำดับความสำคัญมากเป็นอันดับแรก อะไรที่ควรชะลอออกไปก่อน เพราะเวลาที่เราอยู่ใกล้กับสิ่งใดๆมากเกินไป ก็เป็นเรื่องปรกติที่เราจะมองภาพรวมไม่ออก เหมือนกับฟุตบอลที่ต้องมีผู้จัดการทีมอยู่ข้างสนาม คอยประคับประครองให้ทีมอยู่ในแบบแผน และรูปแบบที่ถูกต้อง

หลังจากฟอร์มทีมขึ้นมา กำหนดวันเริ่มใช้งานจริงให้ผู้ใช้งานทั่วไปได้ลองเข้ามาเล่นกับระบบเว็บไซต์ที่เขียนขึ้น ก็ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เรากำลังพัฒนานั้นมีบางอย่างไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานมากนัก หรือกลุ่มเป้าหมายที่เราทำ research มานั้น ยังไม่ตรงกับที่สันนิษฐานตอนแรก ช่วงเดือนแรกเลยเป็นช่วงที่เราทำอะไรหลายอย่างมาก แต่สุดท้ายก็เพื่อจุดประสงค์เดียวคือ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานระบบได้ง่ายขึ้น

คุณหาเงินยังไง เมื่อไหร่จะทำเงินได้

นี่เป็นคำถามที่เวลาเราไปนำเสนอโครงการให้ใครฟังแล้วจะได้ยินกลับมาแทบทุกครั้ง ซึ่งเราก็ตอบกลับไปทุกครั้งว่า goal ของเราในเวลานี้ยังไม่ใช่เรื่องการหาเงิน จริงอยู่ที่เราคิดวิธีหาเงินกันมาตั้งแต่วันแรกที่ทำธุรกิจ แต่นั้นยังไม่ใช่เรื่องที่เราเน้นความสำคัญ เพราะสิ่งที่เราคิดว่าควรจะให้เวลากับมันมากที่สุดคือ ทำยังไงให้มีคนใช้ ทำยังไงให้คนรู้สึกว่ามันสะดวก และสามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน หรืออย่างน้อยที่สุดคือ ทำอย่างไรให้คนนึกถึงได้ว่า เวลาจะไปเที่ยวไหน จะต้องลองเปิดใช้งานเว็บไซต์ tripniceday.com ดูบ้างสักครั้งก่อนเดินทาง

ตอนแรกที่เราเริ่มทำธุรกิจ และก่อนที่จะนำระบบขึ้นให้คนทั่วไปใช้งานกันเป็นครั้งแรก เรามักจะนั่งคุยกันเป็นชั่วโมงๆ ว่าระบบจะหาเงินยังไง ทำยังไงให้มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เราคิดกันไปว่ามันจะเกิดขึ้นเท่าไหร่ๆ ซึ่งการคิดไปก่อนล่วงหน้านั้นก็เป็นสิ่งที่ดี แต่เราคิดว่ามันทำให้เราพะวงกับผลลัพธ์ที่ยังไม่เกิดทั้งๆ ที่มันอาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราคิดไว้อย่างนั้นจริงก็ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเริ่มเคลียร์กับภาพในอนาคตกันแล้วว่าจะเป็นยังไง หรือน่าจะเป็นอย่างไร เราก็แพลนการทำงาน พัฒนาผลิตภัณฑ์จนมันเกิดขึ้นเป็นรูปร่างจนสามารถเปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าใช้งานได้จริงผ่านหน้าเว็บไซต์ www.tripniceday.com ได้ในวันที่ 9 กันยายน 2562 ซึ่งตอนที่ผมนั่งเขียนบทความนี้ ก็เข้าเป็นเดือนที่ 3 แล้วที่เราให้บริการมา และต้องบอกว่าการตอบรับนั้นดีกว่าที่เราคาดคิดเอาไว้มาก

3 เดือนที่ผ่านมามีผู้สมัครสมาชิกทั้งหมดร่วม 1,000 บัญชี มีทริปที่ถูกจัดขึ้นราว 220 ทริป มีการค้นหาเส้นทางกว่า 6,000 ครั้ง และมี data point ที่สามารถนำไปวิเคราะห์ข้อมูลต่อในอนาคตถึง 25,000 จุด นอกจากนั้นยังมีผู้ใช้งานต่อวันราว 200 ~ 300 คน ซึ่งทำให้เราสามารถนำตัวเลขเหล่านี้ไปเป็น traction เสนอกับนักลงทุนได้

จนถึงทุกวันนี้ เราก็ยังไม่ได้โฟกัสไปที่การหาเงินเลยแม้แต่น้อย ทุกคนทำเพราะมี inner drive แบบเดียวกันคือได้ทำอะไรสนุกๆ มีประโยชน์และมีคนที่เห็นว่ามันสามารถใช้งานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการไปเที่ยวในแต่ละครั้งได้จริง ทุกครั้งที่เราได้รับ feedback ไม่ว่าจะเป็นทาง LINE official account หรือ inbox ทาง Facebook page มันก็คอยเป็นแรงกระตุ้นให้เรามองโลกในแง่ดี คิดหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในทุกช่วง

แต่ธุรกิจก็คือธุรกิจ

ถ้าทำแล้วไม่ทำเงิน มันไม่เรียกธุรกิจ มันเป็นแค่เพียงงานอดิเรก ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งด้านการโฆษณาออนไลน์ ค่าใช้จ่ายด้านแผนที่ ค่าใช้จ่ายด้านเครื่องเซิฟเวอร์ที่เช่าใช้บริการ หรือแม้แต่สิ่งที่เราลงแรงไปก็คือค่าใช้จ่ายและต้นทุนของโครงการทั้งนั้น เรายังคาดหวังเสมอว่าเมื่อผ่านไปได้สักพักจนผลิตภัณฑ์สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่ามันเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้งานทั่วไปจริง เราก็จะนำโมเดลธุรกิจที่วางแผนกันไว้เข้ามาจับ เพื่อหารายได้เข้าบริษัทเหมือนที่ธุรกิจทั่วไปทำกัน

แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้น เราก็คงต้องพิสูจน์อะไรกันอีกหลายอย่าง พัฒนาผลิตภัณฑ์กันอย่างต่อเนื่อง เดินสายหานักลงทุน ไปจนถึงคิดแผนการทำงานใหม่ที่เปลี่ยนแทบทุกอาทิตย์เพื่อวัดผลอย่างสม่ำเสมอ แน่นอนว่าการทำธุรกิจหรือตั้งบริษัทใหม่มันย่อมมีความลำบาก แต่มันเป็นความลำบากที่ใครทุกคนก็ต้องเจอ เพราะถ้าไม่อยากเจอความลำบากก็ไม่รู้ว่ามันจะต้องมีเหตุผลอะไรที่เราตั้งบริษัทกันขึ้นมา

ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อย แต่เราก็สนุกด้วยในเวลาเดียวกัน


ทริปไนซ์เดย์คืออะไร

มีหลายเรื่องก่อนที่จะมาเป็นทริปไนซ์เดย์อย่างทุกวันนี้ หลายคนอาจจะรู้แค่ว่าผมเอางานปริญญาโทมาต่อยอด หรือเห็นโอกาสต่างๆ นาๆ ซึ่งมันก็จริง แต่มันเป็นเรื่องจริงเพียงเสี้ยวเล็กๆจากสิ่งที่ไม่เคยเล่าเลยมากมาย ผมได้แรงบันดาลใจมาจากการหนังสือเล่มนึงจำไม่ได้แล้วว่าเล่มไหน เล่าถึงเรื่องนึกศึกษาปริญญาโทที่ MIT เอางานวิจัยตัวเองมาต่อยอดเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพจนถึงปัจจุบัน ก็เลยนึกไปว่าจริงๆแล้วเราน่าจะทำได้วันใดวันนึง แต่สิ่งที่เขาไม่ได้เล่านั้นเป็นเรื่องที่เราพบเจอเองมาแล้วก็สูญเสียอะไรหลายอย่างกว่าจะมาเป็นทุกวันนี้ ผมเขียนบางส่วนเอาไว้บ้างในบทความที่ชื่อว่า เรื่องวันวาน มันก็เป็นความจริงอีกส่วนหนึ่งจากหลายๆส่วนที่ค่อยๆได้ถูกเก็บมาเขียน เก็บมาเล่าอยู่เรื่อยๆ

ทริปไนซ์เดย์ (www.tripniceday.com) คือแพลทฟอร์มให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวแบบครบวงจร เราช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลที่เที่ยว เส้นทางการเดินทาง สถานที่น่าสนใจระหว่างทาง รวมไปถึงการสั่งซื้อบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวจบครบในที่เดียว

ทริปไนซ์เดย์
เว็บไซต์ www.tripniceday.com

นอกจากนั้นผู้ใช้งานยังบันทึกแผนการเดินทางเก็บไว้แก้ไขภายหลังได้อย่างสะดวก ให้อารมณ์เหมือนการใช้งาน Google Maps ผสมพันทิปดอทคอมได้ในเวลาเดียวกัน โดยจุดมุ่งหมายของเราคือ คุณไม่ต้องหาข้อมูลหลายที่หลายเว็บไซต์หลายแอปฯ แค่เข้าใช้งาน tripniceday.com ก็ได้ข้อมูลทุกอย่างครบในที่เดียว

เรายังมีบริการเสริมอื่นๆที่น่าสนใจได้แก่ ตามทริปคนอื่น ซึ่งช่วยให้คุณหาแผนการเดินทางจากผู้ใช้งานคนอื่นและตามทริปได้เลยทันที, ค้นหาที่เที่ยวจากรูปภาพ ช่วยสร้างไอเดียในการไปเที่ยว หมดปัญหาไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหนดี หรือบล็อกท่องเที่ยวที่สามารถลิงค์แผนการเดินทางที่จัดเอาไว้ และสามารถดูข้อมูลสถานที่ที่เขียนถึงได้จากหน้าบทความ ให้คุณสะดวกในการสืบค้นข้อมูลในการไปเที่ยวครั้งต่อไป

เพราะอยากให้นึกถึง “ทริปไนซ์เดย์” เวลาไปเที่ยว

เรายังมีอีกหลายส่วนที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงกัน แต่ 3 เดือนแรกที่ลองเปิดให้คนอื่นใช้งานมาก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ทำให้ต้องปรับและเปลี่ยนแปลงฟังก์ชันการทำงานใหม่ไม่เว้นแต่ละวัน อีกทั้งข้อมูลในระบบก็ยังไม่นิ่ง มีที่เที่ยวหลายจุดที่ยังไม่มีบนระบบแผนที่ของเรา ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการเพิ่มข้อมูลและพัฒนาต่อกันพอสมควร เหมือนกับที่ใครหลายคนกล่าวเอาไว้ว่า การทำสตาร์ทอัพไม่ใช่การวิ่ง sprint เพื่อเน้นความเร็ว แต่เป็นการวิ่งระยะไกลแบบ marathon ที่ต้องวัดกันว่าใครจะอยู่ทนกว่ากัน

เรายังคงเปิดกว้างเรื่องพันธมิตรทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่พัก บล็อกเกอร์ บริษัทห้างร้าน ชุมชนหรือไม่เว้นแม้แต่นักลงทุน หากท่านสนใจเป็นคู่ค้าทางธุรกิจ หรือมีคำแนะนำใดเกี่ยวกับระบบของทริปไนซ์เดย์ ท่านสามารถติดต่อเพจของทีมงาน(www.facebook.com/tripniceday) ได้ตลอดเวลาเลยครับ

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ