บ่อยครั้งที่เราก็คิดอะไรมากเกินไปกับเรื่องง่ายๆ
ผมเคยเกลียดตัวเองเวลาต้องตัดสินใจเรื่องอะไรง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้เวลานานในการตัดสินใจ แต่ก็กลับคิดมันมากมายเหลือเกิน คิดไปก่อนว่ามันอาจจะเป็นอย่างนั้น หรือผลลัพธ์ตอนจบอาจจะเป็นอย่างนี้ อย่างการพูดคุยกับคนนั้น หรือใช้วิธีไหนในการแก้ปัญหา หรือต้องเตรียมคำพูดแบบไหน ฯลฯ ทั้งๆ ที่มันอาจจะไม่ได้เกินขึ้นจริงเลยด้วยซ้ำ ลองนึกภาพสถานการณ์ง่ายๆ ดูนะครับ เช่นว่า ได้ยินจากเพื่อนร่วมงานว่าลูกค้าต้องการเปลี่ยนงานออกแบบใหม่ แค่นั้นสมองก็คิดไปเยอะแล้ว จำลองภาพต่างๆ ตั้งแต่เปลี่ยนทั้งส่วนทั้งงานไปจนถึงตกลงกับลูกค้าไม่ได้
ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง ลูกค้าอาจจะอยากขอเปลี่ยนแค่สีปุ่มของงานออกแบบ หรือแค่คุยกันให้เข้าใจว่าทำไมต้องใช้สีนี้แค่นั้น แต่สมองกลับจินตนาการไปในภาพที่แย่กว่าความเป็นจริงมากมาย แล้วมันก็อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นด้วยซ้ำ
จริงๆ แล้วการคิดเยอะนั้นมีข้อดีครับ แล้วก็มีข้อดีมากด้วย เพราะมันทำให้เราสามารถจินตนาการทุก use case ที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนตัดสินใจ หรือหลังตัดสินใจนั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกค้าบอกว่า งานนี้จำเป็นต้องให้รองรับการชำระเงินออนไลน์นะ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ลงขอบเขตของงานอะไรมากนัก แต่การคิดเยอะก็ช่วยให้เราประเมินเวลา ค่าใช้จ่ายได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งอาจจะเกิด use case บางอย่างที่เป็น rare case แล้วอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นก็ได้ แต่อย่างน้อยเราก็ป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงมันไม่ให้เกิดไว้แล้ว
แต่การคิดเยอะกลับไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจอะไรง่ายๆเลย มันตรงกันข้ามกับการที่ต้องกระทำออกมามากๆ ลองนึกเล่นๆ ดูว่าหากตอนนี้เวลาพักเที่ยง เรากำลังจะเดินไปโรงอาหารเพื่อทานอาหารกลางวัน บางทีสมองก็เริ่มคิดไปก่อนที่จะถึงโรงอาหารแล้วว่าวันนี้จะกินอะไร จากร้านไหน ถ้ากินแบบนี้ ไขมันน่าจะเยอะ แต่ถ้าสั่งแบบนี้ก็อาจจะไม่อิ่ม แล้วถ้าร้านนี้ไม่เปิดล่ะ ต้องไปสั่งอาหารร้านไหน เมนูไหนอร่อย หรือเมนูไหนที่มีแคลเลอรี่ไม่มากเกินไป การคิดเยอะทำให้สมองทำงานหนัก แล้วก็ใช้พลังงานกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง หรืออาจจะทำให้สมองล้าโดยไม่จำเป็น
แน่นอนข้อเสียของมันคือ ทำให้เรากลายเป็นคนตัดสินใจอะไรยาก ลังเล และต้องใช้เวลาในการตัดสินใจแต่ละครั้ง หรืออาจจะขอข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หากเรื่องนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และต้องอยู่กับเราไปนานๆ อย่างเช่นเรื่องของการตัดสินใจไปเรียนต่อ การเปลี่ยนหน้าที่การงาน หรือการเลือกคบใครสักคน จนสุดท้ายมันอาจจะทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจในอะไรเลยก็เป็นได้
ผมนึกถึงเรื่องๆ นึงที่เคยได้ฟังคนอื่นพูดไว้ คือเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีปัญหา แล้วเราอยู่ใกล้มันมากเกินไป เราจะมองปัญหาไม่ออก แก้ไขปัญหาได้ยาก หรือบางทีก็คิดว่าไม่มีทางแก้ไขได้ เหมือนกับเราพยายามมองภาพหนึ่งภาพ แต่ใช้มือขึ้นมาบังสายตา เมื่อไหร่ก็ตามที่มืออยู่ใกล้กับตามากเกินไป เราก็จะไม่เห็นสิ่งที่อยู่ด้านหลังของมือ กลับกันถ้าถอยออกมาสักหน่อย เราอาจจะพอเห็นช่องว่างระหว่างนิ้วเพื่อเห็นภาพที่อยู่หลังมือ หรือท้ายที่สุดเมื่อห่างมากๆ เราจะเห็นภาพรวมมากขึ้น และเข้าใจว่ามือมันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง หรือสิ่งหนึ่งที่กั้นระหว่างสายตา กับวัตถุแค่เท่านั้น
การคิดแบบคนนอก หรือการที่นึกว่าตัวเองไม่ได้มีบทบาทโดยตรงกับเรื่องนั้น ก็อาจจะเป็นตัวช่วยให้การตัดสินใจได้ง่ายขึ้น อย่างเราไม่ต้องใช้เวลาอะไรมากมายเลยเมื่อเพื่อนมาถามว่า “ตอนนี้มือถือพัง จะเปลี่ยนไปใช้รุ่นไหนดี” เราก็แค่แนะนำไปโดยเห็นว่าเขาเป็นคนแบบนี้ ก็น่าจะเหมาะกับอะไรแบบนี้ โดยที่ไม่ได้ลงลึกไปเลยว่ามันจะอะไรยังไงมากน้อยแค่ไหน แค่เราเห็นจากที่เราเห็นว่าเขาเป็นคนแบบไหน แล้วอะไรน่าจะดี มันคือการตัดสินใจที่ไม่ได้คิดอะไรเยอะ แล้วก็ไม่ได้ใช้พลังงานอะไรมากมายเลยด้วยซ้ำ
แต่เพราะเรื่องบางเรื่องมันมีผลกระทบต่อเรามากน้อยต่างกัน
เราเลยต้องใช้เวลาในการคิด ตัดสินใจ แล้วก็หาข้อมูลมากเพื่อให้ผลที่จะเกิดขึ้นดีกับตัวเองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องดีครับ แต่ถ้าเรื่องเล็กน้อยแล้วเราไม่สามารถควบคุมสมองให้นึกคิดตามขนาดที่เกิดขึ้น หรือตามผลกระทบกระจ่อยร่อยแล้ว มันก็เหมือนการขี่ช้างจับตักแตน ที่ใช้ประสิทธิภาพของสมองเกินตัวนั่นแหละ
สุดท้ายแล้วเราเองจะเป็นคนที่ตัดสินใจอะไรยากมาก หาข้อมูลแล้วข้อมูลอีก ไม่ตัดสินใจอะไรสักที ซึ่งบางทีก็ทำให้ตัวเองรู้สึกแย่เหมือนกันนะ