ช่วงแรกที่ออกไปรับงานลูกค้าเองหลายๆเจ้า มีเรื่องนึงที่จะโดนเหมือนกันในแทบทุกครั้งเลยคือเรื่องความไม่เชื่อใจ ซึ่งมันก็ดู makesense ดี ถ้าลองพูดขึ้นมาเล่นๆว่า “เมื่อวานหาคนเขียนแอพฯ/เว็บ แล้วมี vendor เจ้านึงเป็นเด็กรุ่นๆมาเสนอ” ยิ่งถ้าเป็นองค์กรใหญ่หน่อยนี่มักจะโดนเพ่งเล็งเป็นพิเศษ คำถามมากมายเกิดขึ้นในวันที่เจอกัน ถึงแม้ยังไม่เห็นผลงานที่เคยทำมา แต่ลูกค้าได้สร้างกำแพงบางอย่างสำหรับเราไปแล้ว
ยิ่งไม่มีออฟฟิศ ไม่มีพนักงานประจำ ฯลฯ ยิ่งเป็นข้อสงสัยย้ำเติมเข้าไปใหญ่ว่าไอ้ vendor เจ้าเนี้ยมันจะทำงานที่จ้างได้มั้ย
จินดาธีม ก่อตั้งโดยเด็กวัยรุ่น 2 คนที่มาจากแขนงวิทยาการคอมพิวเตอร์(computer science) ตอนที่ฟอร์มนิติบุคคลขึ้นมานี้จดเป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพราะด้วยทีมที่มีกันแค่สองคน จะไปหาใครอีกสักคนมาถือหุ้นให้ครบสามแล้วไปจดบริษัทมันก็ยังไงอยู่ ไหนจะ พ.ร.บ. ตั้งบริษัทคนเดียวก็ยังไม่บังคับใช้ เลยตกลงกันว่าอยู่ในรูปห้างฯ ไปก่อนจนกว่าจะเจอใครอีกคน หรือพ.ร.บ.ใหม่บังคับใช้แล้วไปเปลี่ยน แล้วแต่ว่าอะไรจะถึงก่อน
ที่น่าตลกคือเราใส่ทุนจดทะเบียนกันไปแค่ 1,000 บาท
อ่านไม่ผิดหรอกครับ แล้วผมก็ไม่คิดว่าจะมีนิติบุคคลเจ้าไหนที่ใส่เงินทุนจดทะเบียนลงมาน้อยนิดเท่าของเราอีกแล้ว ผมขอเล่าให้ฟังก่อนว่าทุนจดทะเบียนเนี่ยมันสำคัญยังไงเวลาไปรับงาน หรือเสนองานนะครับ ถ้าจะให้กระชับ และง่าย ทุนจดทะเบียนมันก็เปรียบเสมือนเครื่องการันตีความน่าเชื่อถือของบริษัทในรูปแบบหนึ่ง โดยปรกติบริษัทที่ทำงานในเชิงให้บริการ และผลิตสินค้า มักจะใส่ทุนจดทะเบียนในจำนวนเงินที่เท่ากับจำนวนเงินที่ปรากฏบนเอกสารสัญญาว่าจ้าง แต่มันก็ไม่มีอะไรตายตัว บริษัทตั้งใหม่สมัยนี้มักจะใส่กันหนึ่งล้านบาทเป็นค่าเริ่มต้นที่พบกันได้บ่อย
แต่ต้องทำความเข้าใจว่าบางแห่งก็ไม่จำเป็นต้องนำเงินหนึ่งล้านบาทไปใส่บัญชีทันที เพราะทางกฏหมาย กรรมการจะต้องเรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระเงินค่าหุ้นของบริษัทอย่างน้อยร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้น นั่นหมายความว่าใส่ลงบัญชีที่เปิดมีเอกสารหลักฐานแค่ 250,000 บาท ก็นำไปจดทะเบียนได้
แล้วทำไมต้องใส่ทุนจดทะเบียนไปแค่ 1,000 บาท?
ผมคิดแบบนี้ครับ สมัยผมกับหุ้นส่วนยังทำ startup และอยู่ใน incubator เรามักจะเห็นอะไรหลายๆอย่างที่เติบโตขึ้นไวมาก และดิ่งร่วงเร็วมาก ความแน่นอนเป็นสิ่งที่หาได้ยาก มีการนำทักษะ และระเบียบวิธีในการทำธุรกิจหลายๆ อย่างเข้ามาใช้ ส่วนนึงเป็นเพราะมี mentor ชั้นนำในบริษัทใหญ่ๆ เข้ามาให้ความรู้ว่าควรจะทำแบบนั้น เดินไปแบบนี้ หลายอย่างก็เอามาใช้ได้ แล้วก็มีหลายอย่างที่มันใช้ไม่ได้สำหรับเรา พอตัดสินใจออกมาเปิดซอฟแวร์เฮ้าส์เองก็ตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจแบบ lean ซึ่งเป็นวิธีนึงที่เราเห็นกันว่ามันมีประโยชน์ทั้งในเชิงของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจด้วย
lean คือการตัดค่าใช้จ่ายลงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วหันไปเน้นในเรื่องของการพัฒนา ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ มันทำให้ cost ของการพัฒนานั้นถูกลง เราสามารถลดเพดานราคาให้กับลูกค้าได้ โดยที่ยังสามารถผลิตในเกณฑ์ที่ได้คุณภาพเหมือนเดิม ฉะนั้นก็เลยคิดว่า core business และต้นทุนจริงๆ ของการพัฒนาซอฟแวร์คือ ค่าจ้างพัฒนา หรือค่าจ้างโปรแกรมเมอร์ ซึ่งเราเองก็เป็นโปรแกรมเมอร์อยู่แล้ว ทำให้สามารถคุมค่าใช้จ่าย และต้นทุนได้ ทุนที่ใส่ไป 1,000 บาทจึงเป็นเงินที่เราไม่ได้ควักกระเป๋าอะไรเลยจริงๆ มันแทบจะเป็นเพียงแค่เงินกินบุฟเฟ่ต์ หรือเบียร์มื้อนึงด้วยซ้ำไป
วันนี้เราเริ่มต้นกันที่เงิน 1,000 บาท เราก็ทำงานกันไปเรื่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อยจากการทำงานไป จนวันนึงเงินจากการประกอบกิจการได้กำไรเป็นเงินหนึ่งล้านบาท ผมคิดว่าเงินจำนวนนั้นเป็นเงินที่น่าภูมิใจกว่า มันเหมือนกับผลงานที่เราทำขึ้นมาจริงๆ ไม่ได้ควักกระเป๋าตัวเองเพื่อลงทุนไปก่อน แล้วก็บอกคนอื่นว่า เห้ย! เห็นมั้ย บริษัทผมมีเงินทุนตั้งหนึ่งล้านบาทแหนะ
ตอนที่เขียนบทความนี้ ห้างฯ ผ่านการจดทะเบียนมาได้ประมาณ 2 ปี
ลูกค้าเราเพิ่มมากขึ้น งานเริ่มเข้ามาต่อเนื่อง เราเริ่มซื้อซอฟแวร์อื่นๆ เข้ามาเพื่อลดระยะเวลาในการพัฒนา รวมทั้งช่วยให้ผลิตผลงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มมีลูกค้าเจ้าใหญ่ๆ พากันให้ความสนใจ จนบางทีเราสองคนก็มานั่งขำตัวเอง ว่าบริษัทลูกค้าทุนจดทะเบียน 300 ล้าน มาจ้างห้างฯ ทุนจดทะเบียน 1,000 บาท เขียนซอฟแวร์ให้ แต่สิ่งที่เราพึงพอใจคือวิธีการทำธุรกิจแบบ lean นั่นแหละครับ ที่ทำให้บริษัทมีกำไรตลอดจนสามารถนำเงินในบัญชีของเราเองไปเพิ่มทุนจดทะเบียนให้เท่ากับคนอื่นได้
แต่ก็ใช่ว่าลูกค้าใหม่ๆ ตอนนี้จะไม่ได้เป็นเหมือนกับที่เขียนตอนแรก ผมกับหุ้นส่วนยังคงเจอคำสบประมาทอยู่เรื่อยๆ เวลาไปคุยงานรับงานครั้งแรก พอเค้าเห็นงานที่ได้ก็จะเปลี่ยนไปอีกแบบนึง จากใครก็ไม่รู้ ไม่น่าเชื่อมือกลายเป็น vendor ที่ทำงานกันต่อเนื่องหลายโปรเจ็ค
.
พึงระลึกไว้ว่าใครบ้างที่จะอยู่ในวันที่คุณประสบความสำเร็จ ขอแค่คุณแคร์เฉพาะคนเหล่านั้น นอกเหนือจากนั้นก็แค่ทำงานไปเรื่อยๆ รักงานที่ทำ ไม่ต้องมีอารมณ์กับงานให้เหมือนประหนึ่งคุณเป็นหุ่นยนต์
บทความนี้เจ๋งมาครับ เพิ่งได้มีโอกาสค้นหาเจอและเข้ามาอ่าน
เป็นบทความที่ให้แนวคิดบางอย่างได้ดีมาเลยทีเดียว
ขอบคุณมากๆครับ รู้สึกยินดีมากๆเลยเหมือนกันที่บทความนี้เป็นประโยชน์กับคนอื่น :D