เมื่อฟรีแลนซ์ต้องจัดสรรเวลาตัวเองใหม่
ถ้าให้ย้อนกลับไปถึงวันแรกที่เริ่มรับงานในฐานะฟรีแลนซ์จริงๆ ก็คงประมาณ 5-6 ปีเห็นจะได้ครับ ช่วงนั้นเองความรู้กับประสบการณ์เราก็ยังน้อย วางตัวไม่ถูก อาจจะทำอะไรไม่เหมาะสมกับกาลเทศะอยู่บ้าง แต่ตลอดเวลา 5-6 ปีเนี่ยไม่เคยมีงานไหนเลยที่ส่งงานช้ากว่า timeline ที่ตัวเองตั้งเอาไว้ หรือลูกค้าตั้งมาให้ อาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งพยายามตกลงแล้วก็ต่อรองตั้งแต่แรกก่อนแล้วว่าถ้าอันไหนเวลาดูบีบเกินไปก็ขอไม่รับงาน หรือชี้แจงเป็นรายกรณี
ตอนรับงานฟรีแลนซ์ช่วงปีหลังๆ เริ่มปีกกล้าขาแข็ง มีประสบการณ์เยอะขึ้น ทำอะไรเป็นสัดส่วนยิ่งเรื่องเวลากับเครื่องมือนี่แทบจะทำให้ตัวเองเหมือนหุ่นยนต์ที่ทำแค่งานจริงๆ แล้วก็เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่อง productivity ออกมาค่อนข้างบ่อยอย่างเช่น ว่ากันเรื่องของ Productivity, โต๊ะทำงาน หรือ บริษัท และบรรดาเอกสาร
แต่พอช่วงต้นปีที่ผ่านมา เริ่มเอาจริงจังกับธุรกิจของตัวเองมากขึ้น ส่วนตัวผมคิดว่ามันเหมือนอะไรเปลี่ยนไปเยอะมากนะ อย่างเช่นจากพนักงานประจำมีเงินเดือน แล้วก็มีเงินจาก side-project ด้วย กลับต้องเปลี่ยนไปเอา side-project เป็นงานหลัก ต้องเหนื่อยมากขึ้น ไหนจะเรื่องเอกสาร การวางตัว ฯลฯ ผมยังเคยคิดว่ากูเองเป็นฟรีแลนซ์ก็ดีอยู่แล้ว จะต้องมานั่งเหนื่อยสมองนั่งเครียดแบกอะไรบ่นบ่าทำไมเยอะแยะ
แค่นั่งทำงานในออฟฟิศแอร์เย็นๆ สิ้นเดือนก็ได้เงิน งานนอกก็มี สบายกว่ากันเป็นไหนๆ
แต่มันทำมาแล้วครับ ของตัวเองถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ ทุกวันนี้ก็แค่คิดเสมอว่าเหนื่อยตอนวัยรุ่นแม่งก็ยังดีกว่าเหนื่อยตอนแก่ ตอนนี้ยังตัวคนเดียวไม่มีภาระทางกายภาพอะไรให้กังวล ดีกว่าไปตอนแก่มีครอบครัว มีอะไรต้องจับจ่ายใช้สอยมากกว่าตอนนี้ แล้วถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้วจะมานั่งเหนื่อยใจ ท้อใจมันก็ยังไงอยู่ มันเกิดขึ้นมาแล้วก็แค่รับมันไว้ หาอะไรเข้ามาใส่ใจให้มันยังพอเดินหน้าต่อไปได้ก็แค่นั้น
บางทีเที่ยงคืนวันเสาร์ หรือหยุดยาว 3-4 วันลูกค้าโทรมาก็ยังมี ผมเลยต้องจัดสรรเวลาตัวเองใหม่จากฟรีแลนซ์ ให้อยู่คล้ายๆ ในรูปนิติบุคคล ทั้งนี้ก็เพื่อบริหารความเครียดที่เกิดขึ้นด้วยนั่นแหละ ย้ายจากคุยงานผ่านไลน์ส่วนตัวขึ้นไปใช้อีเมล์บริษัท หรือถามตอบแบบมีเวลาคือ 9 โมงเช้า – 6 โมงเย็น แล้วที่เหลือก็เป็นเวลาส่วนตัว ได้นั่งเคลียร์งานต่อถึงกี่โมงก็ว่ากันไป
เดี๋ยวนี้แค่เวลาของตัวเองยังน้อย แล้วจะเอาเวลาที่ไหนให้คนอื่น
เวลาพักผ่อนคือเวลาพักผ่อน ห้ามละเลย ห้ามตัดทิ้ง
ถ้าสภาวะทางอารมณ์ของเราเริ่มมีปัญหา ผมว่าเรื่องเวลาเล่น หรือเวลาพักผ่อนเนี่ยสำคัญมากครับ แต่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามจุดนี้ แล้วก็ไปโฟกัสที่เวลางานให้มากขึ้น อยู่กับมันบ่อยขึ้นจนเราลืม หรือละเลยอะไรหลายต่อหลายอย่างไป ถ้าใครที่ทำงานแบบใช้วิธี pomodoro technique หรือทำงานประมาณ 40-60 นาที แล้วพักสัก 5 นาทีค่อยกลับมานั่งทำงานใหม่ จะรู้ว่ามันทำให้สมองเราไม่ล้าจากการทำงานติดต่อกันมากเกินไป คิดเรื่องงานได้มากขึ้น สร้างสรรค์ผลงานได้ดีขึ้น
แต่คนเราก็มีวิธีผ่อนคลายหลายแบบครับ
ผมเองเวลาทำงานหนักๆ หรือทำงานนานจนรู้สึกเหนื่อยล้าก็มักจะออกไปวิ่ง แรกๆ ก็อยากวิ่งเพราะไม่อยากอยู่หน้าคอมเลยจะหาอะไรทำให้มันดีกับร่างกายด้วยเฉยๆ แต่พอวิ่งติดต่อกันไปหลายๆ ครั้ง รู้สึกว่าเริ่มเสพย์ติด ถ้าไม่ได้ออกไปวิ่ง หรือเล่นกีฬาอะไรก็จะรู้สึกหงุดหงิดช่วงเย็นๆ พอได้ออกกำลังทีนึงก็จะเอาให้หนักเลย ให้ตัวเองรู้สึกหายอยาก
หรือบางทีก็ไปนั่งฟังดนตรีสดดื่มเบียร์คนเดียวที่ร้านประจำ ยิ่งได้ยินเพลงดังๆ ร้านบรรยากาศดีคนน้อยหน่อยเนี่ย มันจะช่วยให้เราไม่ต้องคิดเรื่องอะไรมาก แค่ดื่ม ดู แล้วก็ฟัง ให้พอประมาณกลับบ้านมานั่งทำงานต่ออีกสักพักได้แล้วค่อยนอน
ผมว่าสมองคนเราบางทีก็เข้าใจยากนะ เวลาที่มันรู้สึกดี อะไรมันก็เอา อะไรมันก็ทำ มองมุมมองเจอปัญหาเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ไม่สับสนวุ่นวายอะไรทั้งนั้น แต่บางทีเราใช้มันมากเกินไปจนมันล้า แค่งานแก้นิดเดียว หรือให้คุยกับใครหน่อยนึงก็เริ่มจะงอแงอยากหลบอยากหนีไปพักเสียละ ทางที่ดีเมื่อเรารู้ตัวเองแล้ว ก็ใจเย็นๆ เวลาไหนที่ตัวเองเริ่มจะงอแงก็หาวิธีพักให้มันบ้าง อย่าไปดันทุรังจะทำให้เสร็จ ไม่อยากให้มันค้างคา แลกมาด้วยกับอะไรที่เสียไปเลยจะดีกว่า ก็เหมือนกับการ keep balance between input and output นั่นแหละครับ ขอแค่รู้ตัวเองได้ก็น่ายินดีแล้ว