เคยสงสัยเรื่องผลงาน และเวลาทำงานของตัวเองกันหรือเปล่า?
ผมเองใช้เวลาอยู่หน้าคอมเรียกได้ว่าเป็นครึ่งหนึ่งของชีวิตก็ว่าได้ครับ สิ่งแรกที่ตื่นขึ้นมาหลังจากล้างหน้าแปรงฟันชงกาแฟแล้วก็ต้องมานั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานในห้องตัวเอง ก่อนจะนอนก็เหมือนกัน ยิ่งช่วงไหนงานเยอะหน่อยก็จะอยู่กับมันวันละประมาณ 10-12 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย จริงอยู่ที่เราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับมัน แต่การเป็นแบบนี้ผมก็มานั่งสงสัยว่า เราจำเป็นต้องทำอย่างนี้จริงๆหรอวะ แล้วจะทำไปอีกกี่ปี
ช่วงปีสองปีที่แล้วตอนที่ทำ startup อยู่กับ Parking Duck เนี่ยผมถือว่าเป็นช่วงที่เหนื่อยมากๆ ช่วงนึงของชีวิต จำได้ว่าตอนนั้นรับงานมาซ้อนกันหลายๆงาน ไม่ได้สนใจร่างกาย นอนวันละ 4-5 ชั่วโมงก็ต้องลุกขึ้นมาทำต่อ กีฬาก็ไม่ได้เล่น เพื่อนไม่ได้เจอ หมกตัวอยู่แต่ในบ้าน นั่งปั่นงานไม่สนใจสิ่งรอบข้าง สมองเหมือนถูกสั่งให้ทำงานเหมือนเครื่องจักร สิ่งแรกที่ลืมตาตื่นขึ้นมาก็คิดถึงงานที่ต้องทำวันนี้ จะนอนก็หลับยากเพราะกังวลหลายสิ่งหลายอย่าง จะกินข้าวแม่งก็ไม่อร่อย ความคิดไม่เคยจะหยุดลงที่จานข้าวหน้าของตัวเอง
จริงๆ มันก็ดีครับ ดีที่ว่าผู้ใหญ่ที่เขาเห็นว่าเราทำอะไรได้ ทนแค่ไหน งานหนักงานเบาเหมาหมด ได้ความเชื่อใจ ได้ความไว้ใจ แต่สวนทางกับปริมาณความสุขที่วนเวียนอยู่ข้างใน พอผ่านช่วงนั้นมาได้ก็รู้สึกโล่ง เหมือนเขวี้ยงโลกทั้งใบบนบ่าทิ้งไปเลย ที่เหลือก็คือความสงสัยที่ว่า
เรานั่งทำงานอยู่หน้าคอมเยอะก็จริง แล้วงานที่ได้ล่ะ แม่งได้เยอะด้วยหรือเปล่า?
ถ้าอยู่หน้าคอมเยอะ ได้งานน้อย อันนี้ปัญหาน่าจะเป็นเรื่องของการจัดการเวลา จัดการทรัพยากรของตัวเอง ผมคิดว่าวิธีแก้นั้นมีอยู่ไม่กี่อย่างหรอกครับ อย่างแรกคือเขียน automate workflow แบ่งให้คอมพ์ทำงาน routine เล็กๆให้เรา ส่วนอีกวิธีคือการวัด productivity แล้วควบคุมตัวเอง
Productivity tools
สิ่งที่ง่ายที่สุดของผมน่าจะต้องเป็นการพึ่งเครื่องมือนั่นแหละครับ อย่างคอมพ์ตัวเองเนี่ยจะมีทั้ง app ทั้ง script ที่เขียนขึ้นมาช่วยทำงานซ้ำซ้อนที่ต้องทำทุกวัน ส่วน tracking tools ผมเลือกใช้ 4 ตัวด้วยกันคือ Wakatime, Recess, RescueTime และ WhatPulse ซึ่งทั้งหมดเวลาใช้ด้วยกันแล้วจะทำให้เรารู้ว่าเราใช้เวลาไปอะไร อยู่กับโปรเจ็คนี้นานเท่าไหร่(เหมาะมากกับนำไปคิด manhour, manday) แล้วก็ช่วยเตือนตัวเองทางอ้อมได้ด้วย
Wakatime
แอพฯ ตัวนี้สะดวกตรงที่จะฝังอยู่ใน IDE ที่เราใช้เขียน code เลย ซึ่งสามารถ track เวลาสำหรับแต่ละโปรเจ็คที่เราทำงานอยู่ในแต่ละวันได้ ไหนจะบอกเป็นกราฟขึ้นมาให้เลยว่าที่ทำงานอยู่นั้นใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาหลักบ้าง สามารถดูย้อนหลังในแต่ละวันได้ด้วย ซึ่งถ้าเอาไปใช้เทียบกับ RescueTime แล้วจะสามารถนำไปคิดราคาเป็น manhour/manday ได้ด้วยครับ
RescueTime
แอพฯ ตัวนี้มีประโยชน์มากครับบอกเลย ข้อดีของการติดตั้ง RescueTime คือแอพฯ จะ track การใช้งานเครื่องคอมพ์ของเราเอาไว้ ว่าเปิดเว็บไซต์/แอพฯไหนบ้าง แล้วจำแนกเว็บไซต์ หรือแอพฯนั้นๆ ให้ด้วยว่าเข้าค่ายอยู่ในประเภทไหน เป็น very productive, neatual หรือ very distracting ซึ่งส่วนตัวผมจะชอบมากกว่า Wakatime เพราะว่าสามารถ track โปรแกรมประเภทงานออกแบบอย่าง Photoshop หรือ Sketch ที่ใช้งานบ่อยไม่แพ้ IDE ที่ใช้เขียน code ได้ด้วย
WhatPulse
ตัวนี้ผมเพิ่งเอามาใช้จริงจังได้ประมาณอาทิตย์นึงพอดิบพอดี ใครที่เป็นพวกบ้า stats หรือ track แบบละเอียดทั้งจำนวนครั้งการกดแป้นคีย์บอร์ด จำนวนครั้งคลิก ตำแหน่งที่คลิก โปรแกรมที่เปิดใช้ในเครื่อง แบ่งเป็นวันแล้วก็ดูย้อนหลังเพื่อทำ productive mindset ให้ตัวเองก็ดีเหมือนกัน
อีกตัวนึงเป็นแอพที่ชื่อว่า Recess เอาไว้คอยช่วยเตือนเราให้ลุกไปทำโน่นทำนี่บ้างเมื่อครบเวลาที่อยู่หน้าคอม อาจจะตั้งไว้ชั่วโมงนึง หรือ 50 นาทีแล้วให้พักเบรคสัก 5 – 10 นาที ซึ่งผมเองจะค่อนข้างดื้อ พอครบเวลาแล้วก็จะกดปิดหน้าต่างที่เตือนแล้วนั่งทำงานต่อบ้าง แน่นอนครับมันทำให้เรารำคาญบางครั้ง แต่ถ้าเราทำตามกฏเกณฑ์ง่ายๆที่ตัวเองตั้งขึ้นมาได้มันก็ถือว่าเป็นข้อดีมากกว่าข้อเสียนั่นแหละครับ บ่นแต่ก็ยังทำ ดีกว่าบ่นแล้วไม่ทำห่าไรเลย
เมื่อก่อนมีใช้อีกตัวนึงเป็น extension ของ Google Chrome เอาไว้บล็อกบางเว็บไซต์ที่เราอยากจะลด ละ เลิกแต่ทำด้วยตัวเองไม่ได้ เช่นอาจจะตั้งให้บล็อก Facebook บล็อก Instagram โดยเมื่อไหร่ที่เราเปิดไปที่ url พวกนั้นก็จะขึ้นคำด่าแล้วไม่เปิดหน้าเว็บพวกนั้นให้ตามภาพด้านล่าง
พอมีพวกนี้แล้วรู้สึกว่าทำให้ชีวิตดีขึ้นครับ อย่างน้อยๆ ก็แบ่งเวลาให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น ลดเวลาการเข้าเว็บไซต์ไร้สาระน้อยลง แล้วเอาเวลาพวกนั้นไปซื้อความสุขความสบายใจอื่นๆได้อีกพอสมควร คุณผู้อ่านอาจจะมองว่าเรื่องเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กใช่ไหมครับ แต่อย่างว่าครับ ของแบบนี้มันก็เหมือนกับ “ไม่ใส่ใจ ก็ไม่ได้ใจ” แค่นั้นเอง