ประสบการณ์แรกบน CodeCanyon
ถ้าพูดถึง CodeCanyon ใครหลายๆ คนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูกับชื่อนี้นัก แต่ถ้าเอ่ยถึง “ThemeForest” ก็อาจจะเคยได้ยินกันมาบ้าง บทความนี้จึงเป็นเรื่องราวบอกเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ครั้งแรกของผู้เขียนที่ส่งงาน (สินค้า) ขึ้นไปขายบน Digital Marketplaces ซึ่งถ้าหากมองว่า ThemeForest ขาย theme หรือ template ส่วน Codecanyon ก็จะขายประเภท script ที่เอาไว้ใช้เป็น asset หรือ library สำหรับ developer นั่นเอง ความจริงแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าไหร่ ระบบการส่งไฟล์-การขายนั้นเหมือนกันทุกประการ เพียงแค่แตกต่างกันที่ตัวสินค้า (ทั้ง ThemeForest และ Codecanyon ต่างก็อยู่ภายใต้แบรนด์ Envato) ผู้เขียนมีความสนใจมาสักพักนึงแล้วว่าจะส่งสินค้าขึ้นไปขายบน ThemeForest
แต่ด้วยความที่ว่ายังไม่มีประสบการณ์ด้านการขายใดๆ เลย จึงเห็นว่าอาจจะเสี่ยงโดน reject มากกว่าได้ approve หากส่ง theme หรือ template หนึ่งตัวขึ้นไป อาจจะด้วยระยะเวลาการเขียนที่นาน ไม่น่าจะเหมาะกับตัวผู้เขียนเองที่ไม่ได้ทำงานประจำ เลยตัดสินใจส่งสินค้าตัวอื่นขึ้นไปลองเชิงก่อน ผิดถูกยังไงก็จะได้นำมาแก้ไขปรับปรุงได้ อีกทั้งก็ไม่ได้เสียเวลาเขียนนานเหมือนสร้างธีม หรือ เทมเพลตหนึ่งตัว.. ประมาณว่าไม่อยากแบกรับความเสี่ยงเรื่องโดน reject อะไรทำนองนั้น
skin สำหรับ Twitter Bootstrap ถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ค่อนข้างน่าสนใจเหมาะกับการเริ่มต้นขายของ ด้วยการแข่งขันที่ยังไม่สูงมากนัก อีกทั้งก็ใช้เวลาในการปั้นสินค้าหนึ่งชิ้นได้ไม่นานเท่าไหร่ ถ้าโดน reject มาก็อาจจะไม่เสียดายเท่าเริ่มขายอะไรที่ชิ้นใหญ่เลยในตอนแรก ผู้เขียนใช้เวลาประมาณ 15-20 วันในการปั้นสินค้า พร้อมทั้งเตรียมทั้ง demo link, document อีกทั้งไฟล์ต่างๆ ที่สำคัญอื่นๆ วันแรกที่ส่งขึ้นไปให้ review คือวันที่ 21 เดือนมิถุนายน ผู้เขียนจำได้ว่าทาง CodeCanyon ใช้เวลา review นาน 3-4 วัน ซึ่งเท่าที่หาข้อมูลมาบ้างก็บอกว่าเร็ว บ้างก็บอกว่าช้า ขึ้นอยู่กับปริมาณไฟล์ที่ส่งไป review ในแต่ละช่วง แล้ววันที่ 24 ก็ได้รับเมล์ตอบกลับมาว่าสินค้าโดน “Soft Rejected” ซึ่งในอีเมล์ฉบับดังกล่าวก็มีข้อความประมาณว่า
“คู่มือการใช้งานของคุณยังบกพร่องอยู่เล็กน้อย” จึงต้องกลับมาแก้ไขเพิ่มเติมส่วนคู่มืออยู่นิดๆ หน่อยๆ ก่อนจะส่งขึ้นไปให้ review อีกครั้ง
จนวันที่ 25 ก็ได้รับข้อความกลับมาว่าสินค้าที่ส่งขึ้นไปนั้น approve แล้วเป็นที่เรียบร้อย ก็รู้สึกโล่ง และ ดีใจอยู่พอสมควร เนื่องจาก Envato เองขึ้นชื่อเรื่องการคัดคุณภาพของสินค้าแต่ละชิ้นเป็นอย่างดี ทำให้นักพัฒนาบางคนเกิดความท้อใจหากโดน “Hard Rejected” เอาเข้าเสียดื้อๆ นอกจากคุณภาพไฟล์แต่ละไฟล์ที่ต้องใช้ความละเอียดในการสร้างขึ้นมาแล้ว มาตรฐานของ code ก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้สินค้าของเรานั้นผ่านขึ้นไปสู่ตลาดได้ บทความนี้จึงขอเล่าประสบการณ์เล็กๆ เกี่ยวกับ Digital Marketplaces แห่งนี้ครับ
สร้าง Product
ใครต่อใครหลายคนเวลารับงาน freelance หรือทำงานประจำอยู่ บางครั้งเวลามีงานเข้ามาก็อาจจะต้องรับความต้องการของลูกค้าแล้วทำตามความต้องการเหล่านั้น ซึ่งนี่เองถือเป็นการสร้างสินค้าแบบเฉพาะเจาะจงให้กับแต่ละงาน แต่บน Digital Marketplaces นั้นต่างออกไปเล็กน้อย เราต้องสร้างสินค้าที่เป็นค่ากลางที่พร้อมจะถูกเปลี่ยนแปลงจากคนที่ซื้อมันไปได้ เหมือนเราไม่ได้สร้างของชิ้นนี้ให้กับใครสักคน แต่พยายามจะสร้างให้เข้ากับใครหลายๆคน และ แน่นอนมันจำเป็นต้องมีคู่มือประกอบด้วยเสมอ
คู่มือการใช้งาน (Documentation)
สิ่งหนึ่งที่เรียกว่าขาดไม่ได้เลยคือคู่มือการใช้งานสินค้าที่เราสร้างครับ ยิ่งเขียนได้ละเอียดเท่าไหร่ก็ยิ่งได้ผลดีมากขึ้นเท่านั้น อย่างเช่นคุณเบื่อที่จะต้องมานั่งตอบคำถามผ่านอีเมล์ให้กับลูกค้าอยู่บ่อยๆ ก็เขียนมันไปเลยทุกขั้นทุกตอนให้ครบไปเลย คู่มือนี้มีผลต่อเรื่องของการ review ด้วยเช่นกัน โดย Envato จะมองว่าคู่มือของสินค้าเราพร้อมหรือไม่ ครอบคลุม และ ชัดเจนทุกส่วนสำหรับสินค้าเราหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่นของผู้เขียนเอง เขียนแม่งทุกขั้นตอนเลยตั้งแต่ รายการไฟล์ทั้งหมด, วิธีติดตั้ง, การเรียกใช้งานทุกฟีเจอร์ที่มี ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะเยอะ และ น่าเบื่อ แต่มันจะช่วยให้เราสบายตอนที่ user คนอื่นซื้อสินค้าเราไปใช้แล้ว
มาตรฐาน และ คุณภาพของ Code
เรื่องนี้ถือว่าเป็นอีกเรื่องนึงที่สำคัญไม่แพ้กัน อย่างแรกคือเรื่องของการตั้งชื่อตัวแปร (naming) ความจำเป็นของ code แต่ละส่วน, การ comment ระหว่าง code เพื่อบอกว่าส่วนนี้ทำหน้าที่อะไร-คืออะไร หลักการเขียนถูกต้องหรือเปล่า อะไรที่เห็นแล้วมันคือความมักง่ายต่างๆ แน่นอนว่ายังไงก็ต้องโดน reject เป็นเรื่องธรรมดา อีกเรื่องคือการเรียกใช้ หรืออ้างถึง brand นั้นๆ ควรเขียนให้ถูกต้องทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก เช่น WordPress, jQuery, Bootstrap เป็นต้น
ลิขสิทธิ์ (License)
จะทำสินค้าขายแต่ไม่เคารพลิขสิทธิ์อันนี้ก็แน่นอนว่าเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้โดน reject ตรวจสอบให้มั่นใจว่า library ต่างๆ ที่เรานำเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาสินค้าตัวนั้นขาย ไม่ได้เป็นการละเมิดข้อตกลงเรื่องลิขสิทธิ์ ที่เห็นบ่อยๆ ก็น่าจะเป็น jQuery plugin นี่แหละครับ ถ้าให้ผู้เขียนแนะนำ ผมแนะนำให้เลือกใช้แต่ MIT license และ Apache2 หากใครไม่แน่ใจเรื่องลิขสิทธิ์ก็สามารถเข้าไปหาข้อมูลผ่าน https://tldrlegal.com/ ได้ครับ
ครบถ้วน และ จำเป็น
basic เลยนะครับ ถ้าเขาเห็นว่าไฟล์เราไม่น่าจะเป็นที่ต้องการของตลาด หรือ ยังมีฟีเจอร์น้อยเกินไปที่จะขายได้ หรือ ไฟล์ของเราก็เหมือนๆ กับสินค้าที่มีอยู่แล้วในตลาด ก็อาจจะโดน hard reject ได้เลยทันที พยายามสร้างความแตกต่างแล้วก็สร้างสิ่งที่คิดว่า user น่าจะต้องการ น่าจะซื้อเข้าไปในไฟล์ให้ได้มากๆ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี
ราคา และ ผลตอบแทน
เป็นที่รู้กันดี สำหรับผู้ขายรายใหม่ๆ Envato จะกินส่วนแบ่งจากยอดขายที่ขายได้ไป 50% เมื่อขายไปได้จนถึงจำนวนที่กำหนดใน rate table ก็จะถูกปรับขึ้นตามลำดับ (แต่ขึ้นที ขึ้นทีละ %) เรียกได้ว่าต้องขายให้ได้เป็นพันๆ เป็นหมื่นๆ $ เรทถึงจะเขยิบขึ้นมา และสุดท้ายก็เป็นเรื่องของราคาสินค้า ซึ่งตรงนี้เองเราก็ไม่มีสิทธิ์ตั้งราคาเหมือนกัน สินค้าทุกชิ้นที่ขายบน Digital Marketplaces นั้นจะถูกตั้งราคาให้โดยทีมงาน ท้ายที่สุดหากสินค้าเราผ่านขึ้นไปขายได้แล้วก็ควรที่จะมีบริการหลังการขายเล็กๆ น้อยๆให้กับผู้ที่สนใจ หรือ ซื้อสินค้าของเราไปด้วย เช่นตอบคำถามทางอีเมล์บ้าง อัพเดทการแก้ไขตามรุ่นไฟล์อื่นๆบ้าง เพื่อที่จะได้ rating จากลูกค้าในทางที่ดี ซึ่งตรงนี้เองจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่กำลังสนใจจะซื้อสินค้าของเราไปใช้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีคนส่วนมากมักจะกลัวว่าภาษาอังกฤษที่ใช้สื่อสารนั้นเป็นอุปสรรคที่สำคัญ แต่เรื่องนี้ Entavo เองได้ชี้แจงไว้ในบทความบนเว็บไซต์แล้วว่าไม่ควรใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษที่ยากแก่การเข้าใจจนเกินไป เพราะมีผู้บริโภคอีกมากที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน ก็สรุปได้ง่ายๆ ว่าพอเขียนคำประโยคภาษาอังกฤษง่ายๆ ที่พอสื่อสารแล้วเข้าใจได้ก็พอ ไม่จำเป็นต้องใช้ศัพท์เลิศหรูอย่างที่ใครๆ เข้าใจและกังวลกันครับ TIPS: ลิงค์สำหรับคนที่สนใจขายสินค้าผ่าน Digital Marketplaces อย่าง Envato