การตีความ

การตีความสวยงามเสมอ

นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชอบมาโดยตลอด ผมรู้สึกว่าอะไรก็แล้วแต่ที่พยายามทิ้งร่องรอยให้เราได้ครุ่นคิด ได้นึกถึง ได้ถอดความ มันเป็นเหมือนอะไรบางอย่างที่ไม่เพียงเป็นแค่สิ่งธรรมดาๆ คุณผู้อ่านลองนึกถึงหนังบางเรื่อง เรื่องที่ตอนจบทำออกมาแล้วรู้สึกว่า “ทำไมเราไม่เข้าใจ” หรือมันทำให้เรารู้สึกว่า “เห้ย จบแล้วหรอ” เหมือนขาดอะไรบางสิ่งบางอย่าง แน่ล่ะ คนบางคนอาจจะไม่พอใจกับเรื่องดังกล่าว แต่สำหรับผม มันเหมือนกับว่าคนสร้างหนังเว้นช่องว่างบางอย่างให้เราได้ประติดประต่อเรื่องที่เราเพิ่งผ่านตาด้วยตัวเอง มันทำให้เราจดจำมากกว่าการรับชมหนังธรรมดาหนึ่งเรื่องที่ “ผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ” ถึงแม้บางครั้งมันอาจจะเข้าใจยาก แต่เมื่อใดก็ตามที่เราไขกุญแจตัวนั้นออก ตีความออก เราจะรู้สึกเหมือนกับว่า “โอ้โห หนังเรื่องนี้ลึกซึ้งว่ะ”

ใช่ไหมครับ.. มันเกิดจากความรู้สึกของเราเองทั้งนั้นที่บ่งบอกว่า มันเชื่อมโยงกันได้สวยงาม มันมีอะไรมากกว่าหนังธรรมดาๆหนึ่งเรื่อง

ชีวิตประจำวันของผมก็เหมือนกัน ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่ผมพยายามสื่อสารด้วยถ้อยความที่กระชับนั้นทำให้คนอื่นเข้าใจยาก และ ผิดเพี้ยนไปหรือเปล่า บางทีมันเหมือนกับว่า เราพูดแค่นี้ เรานึกว่าคนอื่นจะเข้าใจเหมือนที่เราต้องการจะสื่อจริงๆ.. แต่มันไม่ได้เป็นไปแบบนั้น มันเหมือนกับว่า สิ่งที่ผมต้องการจะหมายความถึงมันจริงๆกลับถูกบิดเบือนออกไป จากสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ กลับกลายเป็นอะไรไม่รู้ที่มีความหมายในแง่ลบไปโดยสิ้นเชิง

นึกถึง..
นึกถึง..

หลายครั้งหลายครามันเหมือนกับเป็นบทเรียนให้ผมนึกอยู่เสมอ.. การตีความสวยงามก็จริง, แต่ถ้าตีความผิด มันก็คงเป็นเรื่องที่อันตรายมากๆเช่นกัน

ผมว่าจริงๆแล้วคนเราชอบอะไรที่ค่อนข้างมีแง่มุมให้คิดนะ ชอบความซับซ้อน ชอบอะไรก็ตามแต่ที่เกิดการเชื่อมโยงเรื่องต่อเรื่องเข้าด้วยกัน แต่นั่นจะต้องไม่ลึกเกินไปจนใครหลายคนรู้สึกว่ามันซับซ้อนจนเข้าใจไม่ออก มันเหมือนกับเราเว้นช่องว่างให้ใครต่อใครมากเกินไปในการเล่นเกมส์เติมคำ

มันเหมือนกับเวลาเราถ่ายรูปอะไรก็แล้วแต่สักรูปนึงแล้วอัพลงไปบนโซเชียล เน็ตเวิร์คทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น instagram, facebook บางครั้งเราก็คิดอยู่คนเดียวว่า “เออ รูปนี้มันสื่อความหมายชัดเจนของมันนะ คงไม่ต้องมี caption อะไรกำกับหรอก” แต่เหมือนที่เราต้องการจะสื่อสารออกไปนั้นมันยากเกินไป.. หรือว่า คนบางคนไม่มีความลึกซึ้งเอาเสียเลย

แต่ผมก็ยังยึดหลักเดิมๆของผมอยู่ดี..

ถ้าเราคิดว่าความคิดเราผิดตั้งแต่แรก, เราจะฟังคนอื่นมากขึ้น

แน่นอนสิ่งที่ผมจะทำต่อไปคือ ขอโทษ.. การสื่อสารของผมนั้นแย่เกินไปเอง

คำถาม

วันทุกวันผมเหมือนรู้สึกว่าชีวิตตัวเองจมอยู่กับการตั้งคำถาม ยิ่งเราทำเป็นไม่สนใจอะไรต่ออะไรมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งดูเหมือนทำให้เราอยากตั้งคำถามกับสิ่งๆนั้นมากขึ้น ผมทำเหมือนตัวเองไม่อยากรับรู้บางสิ่งบางอย่าง แต่มันก็เหมือนกับว่าเรายิ่งอยากรู้ว่าทำไมของบางสิ่งบางอย่างถึงเป็นแบบนั้น มันดูเหมือนเป็นเรื่องน่าปวดหัวที่ต้องมานั่งคิดอะไรบางอย่างตลอดเวลา พบเจออะไรก็ต้องเกิดคำถามขึ้นมาเสมอๆ

หอมหวล ชวนเป็นเด็ก
หอมหวล ชวนเป็นเด็ก

เพราะทุกคำถามมักจะตามมาด้วยคำตอบ คำตอบไม่ใช่เรื่องน่าปวดหัวหรอกครับ การตัดสินใจเพื่อคำตอบใดคำตอบหนึ่งนั้นน่าปวดหัวกว่ากันเป็นไหนๆ มันอาจจะเป็นเพราะผมเองสื่อสารกับใครต่อใครไม่ค่อยรู้เรื่องเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การตอบคำถามและการตัดสินใจเลยเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวมากขึ้นไปอีกสำหรับผม..

มีเรื่องนึงที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องตลกมากๆเกี่ยวกับการตัดสินใจของผมเอง เมื่อตอนสมัย ม.ปลาย ตอนที่กำลังจะหาที่เรียนมหาลัย ตอนนั้นเป็นช่วง admission ผมจำได้ดีเลยว่าสอบ admission เป็นเวลาสองวัน แล้วก็ต้องไปสอบที่โรงเรียนสวนกุหลาบแถวๆปากเกร็ด ด้วยความที่ว่าเป็นคนดื้อดึงเบื่อค่านิยมโบราณของผู้ใหญ่หลายต่อหลายคนที่รู้จัก เลยตัดสินใจไม่เข้าสอบตอนบ่าย แล้วโดดไปดูหนังหน้าตาเฉย ด้วยคำถามที่ว่า “แล้ว ม.เอกชน มันแย่กว่า ม.รัฐตรงไหน ? ทำไมผู้ใหญ่หลายคนจึงปลุกปั่นนักหนาอยากให้เข้าแต่ ม.รัฐ” จากนั้นก็จะไปเข้าเอแบค จำได้ว่าตอนนั้นเรียนอัดเรื่องออกแบบมาเยอะมาก อยากจะเข้า com-art ไปไงมาไงไม่รู้ก็ไม่ได้เรียน สุดท้ายมาเข้า ม. กรุงเทพฯ ดันเข้าคณะผิดต้องทำเรื่องย้ายคณะตั้งแต่อาทิตย์แรกที่เปิดเรียน

บ้านนอก
บ้านนอก

เหมือนเรื่องตลกที่ย้ายคณะมาแล้วดันทะลึ่งไปลงสาขาผิดอีก มันเหมือนกับว่าการตัดสินใจของตัวเองตอนนั้นสะเปะสะปะมากๆ ไม่คิดอะไรให้ดี เหมือนตัดสินใจทำอะไรให้ผ่านไปวันๆ เลยตั้งหน้าตั้งตาใช้คำว่าอดทนเรียนสิ่งที่ตัวเองไม่เคยชอบเลย คือการเขียนโค้ด อดทนเรียนมา 3-4 ปีรู้สึกว่ามันก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างท่ีตัวเองคิด เรียนจบมาก็ไม่ได้ซีเรียสก็มีงานทำ ทุกวันนี้นั่งเขียนโค้ดด้วยดีไซน์ด้วยก็สนุกดี ไม่ได้รู้สึกว่าลำบากยากเย็นอะไร กลับมีความรู้สึกอยากรู้อะไรตลอดเวลา อยากรู้ว่าใครเป็นยังไง ทำงานยังไง มีหลักการคิดแบบไหน ยุ่งก่าวก่ายคนอื่นเขาไปทั่ว เหมือนอยากเข้าคอร์สอบรมทุกคอร์สที่ร่างกายจะแบกรับไหว

จนบางทีมันก็เหมือนเรื่องตลกเวลาไปฟังอบรมคอร์สเบสิคอะไรที่ไหนก็ตามที่รู้ว่าผู้บรรยายนั้นพูดผิด เข้าใจอะไรผิดไปหน่อย แต่เราก็ไม่ได้ว่าอะไรก็นั่งทำเหมือนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ มันเหมือนทำให้เรารู้สึกอยู่เสมอว่าเราอยู่ท่ามกลางคนที่คิดอะไรต่างจากเราเยอะแยะมากมาย แต่เราก็เปลี่ยนแปลงความคิดใครต่อใครไม่ได้ เหมือนรู้สึกว่าเราไม่รู้สึกขาดอะไรเลยเมื่อต้องทำอะไรคนเดียวอยู่บ่อยๆ

[youtube]u5LzACBnb4s[/youtube]

เราว่าคำว่า “รู้แล้ว” เหมือนกับเป็นตัวทำลายอะไรหลายสิ่งหลายอย่าง และ ปิดกั้นเราจากอะไรๆมากมายอยู่เสมอ มันคงมีความสุขกว่ากันเยอะถ้าเราบอกใครคนอื่นว่า “พี่บอกผมหน่อย แนะนำผมหน่อย ทั้งๆที่เรื่องนั้นเราก็รู้แล้ว.. แต่ก็อยากที่จะอยากรู้อีก” เพราะมันมีความรู้สึกของคนๆนั้นปะปนมาด้วยกับสิ่งที่เขากำลังจะพูดด้วยอยู่เสมอๆ

วันนี้เราเขียนธีมขึ้นมาใหม่ด้วย เราให้ชื่อว่า “บ้านนอก” มันเป็นอะไรที่ดูธรรมดาๆ มากเลยนะ แต่ไม่รู้สิ ทุกครั้งที่พูดถึงบ้านนอก มันรู้สึกเหมือนกับว่าเรากำลังกลับไปยังอะไรสักอย่างที่อบอุ่นกว่าสิ่งที่เราเผชิญอยู่ในทุกๆวันนี้ มันทำให้เราหลับตาแล้วคิดถึงตอนที่เรากำลังนั่งอยู่บนโต๊ะไม้ตัวนึงหน้าบ้าน รายล้อมไปด้วยญาติที่กำลังยิ้มพลางหัวเราะ พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน มีข้าวปลาอาหารให้เลือกกินได้สบายไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องคิดถึงอะไรที่วุ่นวาย เหมือนกับฟังบทเพลงหนึ่งเพลง ที่ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อร้อง แค่ได้ยินทำนองก็ได้กลิ่นไอถึงความอบอุ่นแสนไพเราะ..

แชร์บทความนี้

    แสดงความเห็นของคุณที่นี่

    กรุณากรอกอีเมล์ของคุณก่อนส่งข้อมูล เพื่อรับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาตอบข้อความของคุณ